เครือข่ายองค์กรงดเหล้าโต้ “ยุกติ” กรณีห้ามขายเหล้าบนทางเท้า
หลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ 1 ในนั้นคือ เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ…ซึ่งมีสาระสำคัญ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ยกเว้นที่ส่วนบุคคล เนื่องจากผลเสียของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางทำให้เกิดอุบัติได้ง่าย
จากนั้น ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงข้อคิดเห็นในเว็บไซต์ส่วนตัวถึงกฎกระทรวงดังกล่าว โดยมติชนออนไลน์นำมาเสนอในหัวข้อเรื่อง ห้ามขายเหล้าข้างทาง สงครามระหว่างพวกหัวหมอกับนักดื่ม!!! เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้มีบทความ หัวข้อเรื่อง “ห้ามขายน้ำเมาบนทางเท้า ช่วยครอบครัวคนจนให้อบอุ่น ไม่ใช่รังแกคนจน” ซึ่งมีเนื้อหาใจความดังนี้
ตามที่มีนักวิชาการบางคนพูด/เขียนว่า การห้ามขายน้ำเมาบนทางเท้า เป็นการรังแกคนจน น่าจะเป็นการมองจากมุมเดียว แต่หากมองจากมุมของคนจน และสังคมทั้งระบบ โดยเฉพาะจากมิติครอบครัวแล้ว กลับเป็นการช่วยให้ครอบครัวของคนจนดีขึ้นหลายทาง
งานวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิง (มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในปัจจุบัน) และรพ.รามาธิบดี พบว่าในครอบครัวที่มีคนดื่มน้ำเมาความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น ๓-๔ เท่า ดังนั้นการช่วยให้คนในครอบครัว ไม่ต้องไปตั้งวงดื่มน้ำเมาอยู่บนทางเท้า จึงเป็นการช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวไปในตัวด้วย
คนจนรายได้น้อย หากได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท (ตามนโยบายรัฐบาลนี้) ไปซื้อน้ำเมา สัก100- 200 บาท คงไม่เพียงพอ และหากไปเกิดเรื่องราวจากการเมาขาดสติ เช่น เกิดอุบัติเหตุ (คนจนมักใช้มอเตอร์ไซด์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุง่ายกว่า และโดยสถิติอุบัติเหตุก็เกิดจากมอเตอร์ไซด์ และการเมามากที่สุด) เป็นต้น อาจยิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมาย ตรงกันข้ามหากใช้เงินสัก 50- 100 บาท ซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้านพร้อมกับ ลูก เมีย จะเสียเงินน้อยกว่า แถมได้อาหารเพื่อทุกคนในครอบครัว และได้ความอบอุ่นในครอบครัวคืนมา ซึ่งมีคุณค่าที่ประมาณค่าไม่ได้
คนขายอาหารบนทางเท้าก็เป็นคนจน ควรมีรายได้หลักจากอาหารที่เขาทำขายเอง ถ้าคนจนด้วยกันใช้เงินทั้งหมดซื้ออาหาร จะซื้อได้มากกว่า คนขายก็กำไรดีกว่า ไม่ควรแบ่งเงินไปซื้อน้ำเมา ซึ่งแพงกว่า กำไรน้อยกว่า และเป็นการแบ่งเงินไปให้พวกตระกูลที่ร่ำรวยมหาศาลอยู่แล้ว โดยการดูดเงินจากคนจนกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท คนจนที่ขายของควรเห็นใจคนจนด้วยกัน ควรมาช่วยกันรณรงค์ให้ซื้ออาหารกลับไปกินกับครอบครัว แทนที่มานั่งกินเหล้ากับเพื่อน แต่ปล่อยให้ลูกเมียอด และอาจเมากลับไปซ้อมลูกเมียอีกต่างหาก นอกจากนั้นร้านค้าบนทางเกิดผลพลอยได้ทำให้โต๊ะว่างขายของได้มากกว่าการปล่อยให้ตั้งวงเหล้าไม่รู้จักเลิก
นักวิชาการ ควรทำหน้าที่ปกป้องคนจนให้ถูกวิธี ต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือของธุรกิจน้ำเมา โดยตั้งใจ (เพราะ??) หรือไม่ตั้งใจ (มองแต่มุมของตัวเอง) แล้วกลับมาทำร้ายคนจนทั้งครอบครัว ทำลายเศรษฐกิจและสังคม (แม้แต่ธนาคารโลก ซึ่งชำนาญเรื่องเศรษฐกิจ ยังแนะนำว่ายิ่งควบคุมการดื่มน้ำเมามากเท่าใด ยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมมากเท่านั้น) ทำลายเยาวชน ที่ต้องไป “ติดคุก” (งานวิจัยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กฯ สรุปว่าเยาวชนไปติดคุก ทำผิดหลังจากการดื่มน้ำเมาเกือบครึ่งหนึ่ง) “เป็นโรคเอดส์” (พระอาจารย์อลงกต วัดพระบาทน้ำพุให้ข้อมูลว่าคนเป็นโรคเอดส์มากกว่าครึ่งหนึ่งเพราะน้ำเมา และเยาวชนมีแนวโน้มติดเชื้อ hiv มากขึ้น) “ทำลายสมองเยาวชน” = ทำลายสมองชาติ และสร้างปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย
ธุรกิจน้ำเมาต้องตระหนักว่าสินค้าที่ทำกำไรให้ร่ำรวยมหาศาลติดอันดับโลกอยู่แล้ว ไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าอื่นๆ แต่ทำลายสังคมในทุกมิติ จึงไม่ควรทำการตลาดอย่างไม่มีจริยธรรม และต้องไม่ขัดขวางกฎหมายและมาตรการดีๆ ที่จะลดปัญหาให้สังคม และเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์