เครือข่ายสตรี วอนพม. ช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง
เครือข่ายสตรี วอนพม.ทำงานเชิงรุกช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที เผยกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำถูกใช้มา 5 ปี ยังเดินหน้าไม่เต็มสูบ กลไกขาดเอกภาพ ประชาชนไม่รู้ แนะเจ้าหน้าที่เป็นมิตร ตั้งทีมสหวิชาชีพทุกจังหวัด
วันนี้ (26 พ.ย.55) เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยนางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และภาคีเครือข่ายองค์กรสตรี กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผ่านทางนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และเสนอแนวทางการทำงานเชิงรุกเพื่อปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
“แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีการบังคับใช้มานานถึง 5 ปี แต่สภาพปัญหาการถูกกระทำด้วยความรุนแรงยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ยังเป็นผู้หญิงและเด็ก ถูกทำร้ายทั้งทางร่างกาย จิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ และในโอกาสครอบรอบ 5 ปี ของการบังคับใช้กฎหมายนี้ เจ้าภาพหลักที่ควบคุมดูแล ทั้งการกำหนดนโยบาย การบังคับใช้กฎหมายควรเร่งทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ เพราะที่ผ่านมายังพบปัญหาจากการทำงานอย่างเห็นได้ชัด เช่น เจ้าหน้าที่มีน้อย ขาดทักษะการทำงานด้านมิติหญิงชาย ขาดกระบวนการทำงานที่เป็นมิตร ประชาชนขาดการรับรู้ช่องทางหรือกลไกให้ความช่วยเหลือ และอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ รวมถึงสภาพสังคมยังมองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว” นายจะเด็จกล่าว
ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย ได้ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปพิจารณาดังนี้ 1.ขอให้มีการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ ให้เข้าใจมิติหญิงชาย ความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก และครอบครัว 2.ขอให้เร่งปรับปรุงกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตร เพื่อให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้าถึงระบบบริการได้สะดวก รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ 3.ขอให้ปรับปรุงกลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆให้มีเอกภาพ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และควรผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการสหวิชาชีพในระดับจังหวัดทั่วทุกจังหวัด เน้นการทำงานด้านการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ช่วยเหลือผู้หญิง เด็กและครอบครัว และ 4.ขอให้เร่งส่งเสริมให้ภาคประชาชน ชุมชน มีความเข้าใจกฎหมาย และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยอาศัยกลไกตามกฎหมายฉบับนี้
ที่มา : มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล