เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนภาคใต้เปิดเวทีขับเคลื่อน 7 ประเด็นสู่นโยบายสาธารณะ

สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเวทีสาธารณะระดับเครือข่ายภาคใต้ ระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 7 ประเด็น เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะที่แต่ละท้องถิ่นจะได้นำไปสู่การปฏิบัติ

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนภาคใต้เปิดเวทีขับเคลื่อน 7 ประเด็นสู่นโยบายสาธารณะ

สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเวทีสาธารณะระดับเครือข่ายภาคใต้ โดยมีแกนนำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล และตำบลศูนย์เรียนรู้ 8 ศูนย์กว่า 1,000 คน มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การจัดการภัยพิบัติ 2.สวัสดิการสังคมโดยชุมชน 3.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.เด็กและเยาวชน 5.การบริหารจัดการท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน 6.เกษตรกรรมยั่งยืน และ 7.การดูแลสุขภาพ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะที่แต่ละท้องถิ่นจะได้นำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

สำหรับเวทีสาธารณะครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ก.ย.54 ที่โรงแรมหรรษาเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยในวันที่ 14 ก.ย.54 มีการปาถกฐาเรื่องก้าวย่างชุมชนท้องถิ่น จากพลังปฏิบัติการสู่พลังนโยบาย จากนายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 และประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนการปฏิรูป และการปาถกฐา เรื่องพลังชุมชนท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะที่ดี จาก ดร.ไพร พัฒโน นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

นายสมพร กล่าวว่า เป็นเวลา 3 ปี ที่เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยเริ่มต้นจาก อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช ขยายเครือข่ายมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ที่พยายามขับเคลื่อนไปสู่ทุกภูมิภาค เพื่อหลอมรวมให้เกิดความเข้มแข็งของทั้งแผ่นดิน

“วันนี้ท้องถิ่นต้องก้าวย่างต่อไป ขยายการปฏิบัติไปสู่นโยบายสาธารณะ เพื่อยังคุณประโยชน์ให้กับประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในภาคใต้มี 7 ประเด็นที่จะขับเคลื่อนไปสู่นโยบายสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่อย่างมั่นคงและมีเกียรติ สิ่งที่อยากเน้นคือเรื่องการสร้างคน ถ้าคนมีคุณภาพ สังคม ชุมชน ประเทศก็จะมีคุณภาพ เราต้องสร้างคนให้มีคุณภาพด้วยท้องถิ่นของเราเอง แล้วชุมชนของเราจะมั่นคงและยั่งยืน”นายสมพรกล่าวจากนั้นได้มีการเสวนาบทเรียนชุมชนท้องถิ่นทำได้มากกว่าที่คิด โดยนายกเทศบาลและนายกอบต. จากตำบลศูนย์เรียนรู้ 8 ศูนย์

นายประเสริฐ ทองมณี นายก อบต.บ้านควน จ.ชุมพร กล่าวว่า การเกษตรทุกวันนี้เปลี่ยนไป มีปัญหามากมาย ทั้งน้ำเน่า ดินเสีย อากาศเสีย เราต้องหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยมีแนวคิด คือ ต้องมีการตั้งกองทุน ทำปุ๋ยชีวภาพ สร้างกฎในชุมชน กันเขตการใช้สารเคมี สร้างฐานการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อไม่ให้ภาคเกษตรต้องตายแบบผ่อนส่ง

นอกจากนี้ภาคการเกษตร ยังกลายเป็นการเกษตรเศรษฐกิจ ทุกอย่างถูกเร่งโดนสารเคมี ทั้งพืช และสัตว์ เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก ผลกระทบก็คือประชาชน ดังนั้นท้องถิ่นต้องขับเคลื่อนการเกษตรชีวภาพ ให้ไปสู่นโยบายระดับชาติต่อไป

นายสินธพ อินทรัตน์ นายก อบต.ท่าข้าม จ.สงขลา กล่าวว่า ทุกวันนี้เรื่องการจัดการสุขภาพต้องทำให้เห็นภาพชัดเจน เมื่อเราเจ็บป่วย ไปโรงพยาบาล บางครั้งไปตั้งแต่เช้า กว่าจะได้กลับบ้านก็เย็น เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไปรับการรักษา ยิ่งผู้ป่วยที่ไปไหนไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ไม่สามารถไปโรงพยาบาลในเมืองได้อย่างสะดวก อบต.ท่าข้าม ในฐานะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น ได้ตระหนักถึงปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลในเมือง จึงได้รวมตัวกับท้องถิ่นใกล้เคียง คือ อบต.ทุ่งใหญ่ และเทศบาลตำบลน้ำน้อย ร่วมกันสร้างศูนย์แพทย์ชุมชน 3 ตำบลขึ้น บริหารจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการ ร่วมกันอุดหนุนงบประมาณ สร้างอาคาร จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และมีแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่มาประจำอยู่ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล รักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ไม่เป็นภาระของบุตรหลาน เนื่องจากศูนย์แพทย์ตั้งอยู่ในพื้นที่

นอกจากนี้ในเรื่องการป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟูด้านสุขภาพ เราก็ต้องทำควบคู่กันไป เช่น การกระตุ้นการออกกำลังกาย การให้แพทย์และพยาบาลลงพื้นที่ ให้คำแนะนำ ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทุกวันท้องถิ่นเล็กๆ ได้ทำให้ศูนย์แพทย์ชุมชน 3 ตำบล มีศักยภาพในการรักษาพยาบาลมากกว่า รพ.สต. “การจัดการด้านสุขภาพของท้องถิ่นเรา ดำเนินตามแผนสุขภาพตำบล ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นของชาวบ้าน ทุกท้องถิ่นสามารถทำได้มากกว่าที่คิด ถ้ามีความมุ่งมั่นและตั้งใจ”

นายชูสิทธิ์ ชนะสิทธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเขาหัวช้าง จ.พัทลุง กล่าวว่า ทุกวันนี้ธรรมชาติกำลังลงโทษมนุษย์ เพราะทุกคนแย่งชิงใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างหนัก จากภูเขา ที่ราบลุ่ม มาจนถึงชายทะเล กำลังมีปัญหา ซึ่งผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติก็คือชีวิตมนุษย์ แต่เรายังมีความหวัง ถ้าเรามาร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ ร่วมกันจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสม“การจัดการทรัพยากรธรรมชาติก็เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านที่หนึ่ง เราต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่า ส่วนด้านที่สอง เราต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของเราไม่ให้ถูกทำลายไป วิธีการแก้ปัญหาก็คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า เบื้องหลังความสำเร็จมีอยู่ 3 พลังคือ พลังสังคม พลังปัญญา และพลังนโยบาย พลังเหล่านี้มีอยู่ทุกชุมชน แต่อาจถูกกดทับอยู่ จึงทำให้เห็นว่าท้องถิ่นของเราอ่อนแรง เมื่อเรารวมตัวกันได้ ต้องคิดให้เกิดยุทธศาสตร์ อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง หรือระเบิดจากข้างใน แต่สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนทุกรุ่น เป็นพลังของท้องถิ่น เมื่อเรารวมกันได้ เราจะสามารถสู้ศึกได้อย่างไม่เกรงกลัวใคร แม้ว่าเราจะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นเล็กๆ ก็ตาม“เราควรตั้งหลัก มองดูตัวเอง เราต้องสร้างแรงระเบิดจากภายใน การตรวจสอบพลังขององค์กร อาจจะใช้วิธีการลองผิดลองถูก หรือมุ่งตรงไปที่เป้าหมายก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการทบทวนบทบาทของตนเอง”

นายโสภณ พรหมแก้ว นายก อบต.ขุนทะเล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า อบต.ขุนทะเลได้นำด้านสวัสดิการสังคม มาดูแลคนชายขอบ ซึ่งเป็นผู้ยากไร้ ไม่มีที่อยู่อาศัย พิการ ถูกทอดทิ้ง โดยได้มีทีมงานเข้ามาช่วย ซึ่งต้องมีจิตอาสาเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีค่าตอบแทน ทุกวันนี้สามารถกล่าวได้ว่าเราดูแลผู้พิการได้ 100% ซึ่งแม้ในอนาคตหากตนไม่ได้เข้ามาบริหาร ระบบที่วางไว้ก็สามารถดูแลบุคคลเหล่านี้ได้

“เราตั้งเป้าไว้ว่าสังคมของเราจะต้องเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสังคมแห่งการให้ ผู้ให้ก็สุขใจ ผู้รับก็รับอย่างมีศักดิ์ศรี งานด้านสวัสดิการชุมชน เมื่อก่อนรัฐเป็นผู้กำหนด เป็นการกำหนดจากข้างบนมาสู่ข้างล่าง แต่วันนี้เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนจากฐานล่างขึ้นไป ผมขอหยิบคำพูดของนพ.ประเวศ วสี ที่ว่าองค์พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐานขึ้นไปสู่ยอด ไม่มีองค์พระเจดีย์องค์ไหนที่สร้างจากยอดลงมา ชุมชนท้องถิ่นคือฐานล่าง ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศชาติก็ยั่งยืน”

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ