เครือข่ายมหา’ลัย เพื่อประเทศไทยน่าอยู่ปี4
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่ารูปแบบการศึกษาในประเทศไทยนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแบบเดิมๆ ที่ในอดีตอาจจะมีแต่การเรียนการสอนแบบท่องจำ ไม่ค่อยมีการเรียนรู้นอกห้องเรียน จึงทำให้หลายสถาบันการศึกษามีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้เจอกับประสบการณ์จริง
ซึ่งทางเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) ได้ร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สสส. สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย กองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ และองค์กรภาคประชาสังคม จัด "นิทรรศการไทยทีนสปิริต" ภายใต้ชื่อ "โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ปี 4" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยในเครือข่ายปรับการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และพัฒนาทักษะการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้สอดคล้องไปกับการรับใช้สังคม และพัฒนาสำนึกพลเมืองของนักศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนในสังคมไทย
ทั้งนี้ การจัดนิทรรศการสะท้อนปัญหาสังคมโดยผ่านสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ จากนักศึกษา 11 สถาบันทั่วประเทศที่ร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์จากโจทย์จริงในสังคม 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม, ความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม, สุขภาวะและโภชนาการ, ความรุนแรงในสังคม และสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งสิ้น 34 ผลงาน
ผศ.อาวิน อินทรังษี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (UNC) กล่าวว่า ในแต่ละปีทางคณะกรรมการจะคัดเลือกโจทย์สังคมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และตลอดระยะเวลา 3 ปีในการดำเนินงาน ผลงานของนักศึกษาภายใต้โครงการเครือข่ายฯ มีความตระหนักต่อสาธารณะในหลายประเด็น ในปี 2560 นี้ คณะกรรมการได้คัดเลือกโจทย์ทั้งหมด 5 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาหลักในสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่มีประเด็นสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่ประกาศใช้เป็นแผนในการพัฒนาตั้งแต่เดือน ก.ย.2558-ส.ค.2572 ประเด็นต่างๆ ได้แก่ ประเด็นสิ่งแวดล้อม, ความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม, สุขภาวะและโภชนาการ, ความรุนแรงในสังคม และสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โจทย์การออกแบบการสื่อสารครั้งนี้จะสะท้อนปัญหาสังคม 5 ด้าน ซึ่งเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง และการดำเนินโครงการนี้ยังเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยน่าอยู่ ร่วมกับพันธมิตรที่มองเห็นความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และสร้างเสริมการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น พร้อมกับเปิดหน้าต่างการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จะทำให้เยาวชนได้เห็นปัญหาของสังคมที่พวกเขาได้ร่วมวางแผนและหาแนวทางการแก้ไขด้วยพลังของตัวเอง นำไปสู่การเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ซึ่งจะฝังอยู่ในตัวพวกเขา
"เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ UNC ล้วนเป็นมุมมองของเหล่านักศึกษาที่พร้อมจะมีส่วนร่วมกับปัญหาสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต โครงการต่างๆ อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ซึ่งจะเกิดเป็นกระแสสังคมเพื่อต่อยอดให้เกิดเป็นสังคมเข้มแข็งต่อไป" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้าน น.ส.จารุภา เจริญวัฒโนภาส นิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มของตนเองนั้นได้นำเสนอผลงานในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม ผ่านผลงานที่ชื่อว่า เด็กเร่ร่อน Reason of the Raerons เนื้อหาได้หยิบยกปัญหาค่านิยมเรื่องเพศสัมพันธ์ของเด็กเร่ร่อน การเรียกร้องหาความรักของเด็กเร่รอนที่มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาคุมกำเนิด การติดเกม ติดยาเสพติด ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กเร่ร่อนกำลังประสบอยู่ และคนภายนอกที่มองเห็นก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทางกลุ่มได้ลงไปพูดคุยและถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ทราบถึงปัญหา และนำมาสร้างเป็นผลงานเพื่อสะท้อนปัญหาของเด็กเร่รอน และจากการที่ได้เข้าร่วมโครงการ UNC ทำให้รู้สึกดีใจที่ได้เจอกับปัญหาที่เป็นเรื่องที่แปลกใหม่ไม่เคยเจอในห้องเรียน และทำให้ได้เรียนรู้ รวมทั้งยังได้สัมผัสกับการทำงานที่ได้เจอกับความจริงของสังคม ซึ่งได้เห็นที่มาของปัญหาจริงที่ในห้องเรียนอาจให้เราไม่ได้อย่างแน่นอน
อภิชาติ จันทร์ช่วยนา นักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ วิชาเอกการโฆษณา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า กลุ่มของตนเองได้นำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการที่ชื่อว่า การทำนาอินทรีย์ Red Hot Oranic Farmer เนื่องจากในปัจจุบันเราเห็นว่ายังมีชาวนาที่ยังใช้สารเคมีในการทำนาอยู่ ซึ่งการใช้สารเคมีนั้นไม่เป็นผลดีเลย และส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อตัวชาวนาเองและผู้บริโภค นอกจากนี้สารเคมียังส่งผลทำให้คุณภาพดิน น้ำ เกิดปัญหาทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทางกลุ่มจึงได้ลงพื้นที่ไปสร้างความเข้าใจใหม่ให้ชาวนาหันมารู้จักการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ใช้สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการทำนาแบบอินทรีย์ นอกจากจะปลอดภัยแล้วยังจะช่วยลดต้นทุนด้วย และนอกจากนี้จากการที่ได้เข้าร่วมโครงการ UNC ทำให้ได้รู้ได้เห็นในสิ่งที่ไม่ใช่แต่ในห้องเรียน ได้เจอกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ได้ออกข้างนอก ได้เรียนรู้การทำงานที่เจอกับปัญหาจริงๆ ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา
น.ส.อริยา สภานุรัตนา นักศึกษาจากคณะนิเทศศิลป์ เอกภาพและการสื่อสาร การออกแบบกราฟิก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า กลุ่มได้นำเสนอผลงานในประเด็นความรุนแรงในสังคม เรื่อง Behind the Women การจัดทำนิทรรศการผ่านสื่อแบบ POP UP BOOK และคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อถึงทุกคนในสังคมว่า ทุกคนมีส่วนในการช่วยปกป้องผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงจากการโดนทำร้าย ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณโครงการ UNC ที่ช่วยเปลี่ยนความคิดซึ่งก่อนหน้านี้เคยคิดว่าเรื่อง Social Responsibility กับงานกราฟิกดีไซน์เป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่พอได้ลงมือทำจริงๆ แล้วกลับพบว่าทำให้เรามีโอกาสได้ทำงานออกแบบสื่อเพื่อสังคมที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่นอีกด้วย