เครือข่ายพระสงฆ์ ขับเคลื่อนวัดรูปธรรม
ประชุมขับเคลื่อนวัดรูปธรรมควบคุมปัจจัยเสี่ยงในโครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดชลประทานฯ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี คณะทำงานโครงการฯ โดยการสนับสนุนของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ภายใต้มูลนิธิวิถีสุขและ (สสส.) ได้จัดเวทีประชุมและขับเคลื่อนงานและติดตามหนุนเสริมงานในรอบ 1 ปี เพื่อให้เกิดตัวชี้วัดสำคัญของการทำงานคือ
1.เกิดศาสนทายาท (พระสงฆ์ได้รับการสืบต่องานพัฒนาสังคมในมิติด้านสังคม)
2.เกิดคณะพุทธบริษัทเพื่อสังคม (พระสงฆ์รวมตัวกับประชาคมทำงานรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง
3.เกิดภาพพระนักพัฒนาในการรับใช้สังคม (งานพระพัฒนาได้รับสื่อสาร) และ
4 เกิดนวัตกรรมการลดปัจจัยเสี่ยงหลักในพระสงฆ์และเยาวชน
ในการประชุมดังกล่าวมีการระดมความเห็นในประเด็น “เราจะทำให้วัดปลอดจากอบายมุขอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร” มีข้อสรุปของวิธีการน่าสนใจใน 5 ยุทธศาสตร์คือ 1.สร้างเครือข่ายแนวร่วม 2.ขยายผลรูปธรรมให้แผ่กว้าง 3.กติกา มารยาทค่านิยมร่วม 4.สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้หลากหลาย 5.ให้ความรู้สร้างแรงบันดาลใจ โดยวัดที่ 32 แห่งทั่วประเทศได้กำหนดเป็นแนวทางในการไปทำงานในพื้นที่ต่อไป
มีพระสงฆ์ทั่วทุกภาคมาร่วมพลังทำงานด้านพัฒนาสังคมเกือบ 50 รูป เช่น รูปที่มาจากเชียงใหม่ ทำเรื่องรักษาคนเป็นโรคเอดส์ที่ไร้ที่พึ่ง รูปที่มาจากสุรินทร์ ทำเรื่องช่วยช้างเร่ร่อน ดูแลเกือบ 350 ตัว รูปที่มาจากลำปางสร้างคนทำงานในกลุ่มพระนักพัฒนา รูปที่มาจากนครศรีธรรมราช ทำเรื่องหมอสมุนไพรแก้พิษสัตว์ร้ายทุกชนิด รูปที่มาจากสุพรรณบุรี ทำเรื่องแก้ปัญหาวัยรุ่นตั้งท้องและทำแท้ง รูปที่มาจากสุโขทัย ทำเรื่องการพึ่งพาตนเองและอาหารปลอดภัยทำนาอินทรีย์ รูปที่มาจากจากร้อยเอ็ด ทำเรื่องชุมชนปลอดอบายมุขงานบุญปลอดเหล้า สำหรับที่วัดชลประทานฯ มีเวทีส่งเสริมการฝึกศิลปะมวยไทยปลอดอบายมุขในวัดให้เด็กใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ เพื่อดึงเด็กๆห่างไกลยาเสพติดด้วย
ในโอกาสนี้ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯและประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ในฐานะกรรมการแต่งตั้ง กล่าวว่า “การทำสื่อที่ทรงพลังสมัยใหม่ คือเรื่องพลังของสื่อบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่เอาชนะเรื่องปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า ได้แล้ว หากสร้างกระบวนการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างพลัง โดยถอดบทเรียนจากคนเหล่านั้น เขาเริ่มต้นอย่างไร สารและสื่อแบบไหนทำให้เขาฉุกคิด ปัญหาระหว่างลด ละ เลิก คืออะไร ผ่านเวลายากลำบากได้อย่างไร เป็นต้น แล้วชวนคนเหล่านี้แหละให้ไปชวนกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ร่วมวงก๊งเหล้า..ขาไพ่ ฯลฯ วงเดียวกัน) มาเข้าร่วมกระบวนการ (แบบเครือข่ายขายตรง) ก็น่าจะได้ทั้งสารที่มีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมาย (พระคงเข้าใจหัวอกคนติดเหล้าได้ไม่เท่าคนเคยติด:)และได้เสริมแรงบวกเพิ่มคุณค่าให้กลุ่มคนที่เอาชนะปัจจัยเสี่ยงได้ พร้อมขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยตรง"
ในช่วงบ่าย ได้มีการแบ่งกลุ่มวางแผนงานระดับภาคและทิศทางการทำงานในระยะเวลาที่เหลือของโครงการฯ โดยการนำของพระครูโพธิวีรคุณ ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาควบคุมปัจจัยเสี่ยงภาคอีสาน จ.ร้อยเอ็ด พระครูปลัดวรพล ฐิติคุโณ ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาควบคุมปัจจัยเสี่ยงภาคใต้ จ.สตูล พระสาธิต ธีรปญฺโญ ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาควบคุมปัจจัยเสี่ยงภาคเหนือ จ.ลำปาง และพระครูกาญจนสุตาคม จ.กาญจนบุรี ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาควบคุมปัจจัยเสี่ยงภาคกลาง
นายประญัติ เกรัมย์ กรรมการแต่งตั้งและผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า “ตอนนี้ เรามาได้ครึ่งทางแล้ว ผลจากแบบสำรวจที่เราถามพระและทีมงานในโครงการฯ สะท้อนออกมาตรงกันว่า ได้รับประโยชน์หลักๆ 3 ข้อ คือ มีทีมงานช่วยงานในพื้นที่ ได้สานข่ายและข่ายพระที่ทำงานด้วยกัน ข้อมูลมีเนื้อหาที่ชัดและได้รับการสื่อสารให้คนทั่วไปรับทราบ อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่ยังต้องทำให้เป็นมืออาชีพ นั่น คือการบริหารและจัดการโครงการ ซึ่งในจุดเองฆราวาสที่มาเป็นจิตอาสาจะได้พัฒนาตนเองและร่วมกันกับพระสงฆ์ทำงานให้เป็นระบบและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น”
ในช่วงท้าย คณะกรรมการและทีมงาน ทั้งพระธรรมทายาทได้ร่วมแสดงมุทิตาสักการะ พระปัญญานันทมุนี(สง่า สุภโร) ในโอกาสรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์(พระอารามหลวง)พร้อมรับฟังโอวาทสำหรับการขับเคลื่อนงานพระสังฆ์นักพัฒนาและรื้อฟื้นเครือข่ายธรรมทายาทในอนาคต
วงเวทีของพระนักพัฒนาแบบนี้ ไม่เน้นรูปแบบและพิธีการ แต่เน้นการพึ่งพาตนเองพร้อมตระหนักถึงภารกิจของพระนักพัฒนาที่มุ่งทำงานเพื่อผู้อื่นเหนือประโยชน์ตน อันเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ในการพัฒนาคน ตนและทีมงานสู่ความเป็นมนุษย์ ยกระดับพระให้เป็นที่พึ่งของประชาชน ตอบโจทย์ร่วมสมัยบนเส้นทางของการสร้างสุขภาวะพร้อมควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรมในที่สุด
ที่มา: สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)