เครือข่ายควบคุมยาสูบ ประกาศปฏิญญาแสดงจุดยืน “ไทยไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า” ห้ามนำเข้า-ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ส่งเสริมค่านิยมดูแลสุขภาพ ป้องกันเด็ก-เยาวชนก้าวสู่วงจรนักสูบตั้งแต่ต้นทาง
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ประกาศปฏิญญาแสดงจุดยืน “ไทยไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า” ห้ามนำเข้า-ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ส่งเสริมค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น “ไม่สูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า” ชี้ ไม่มีมาตรการป้องกันเด็ก เยาวชนก้าวสู่วงจรนักสูบ ต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง เตรียมบรรจุหลักสูตรรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าเข้าระบบการศึกษา
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวในพิธีปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ว่า เครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ตระหนักตรงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อร่างกาย มีนิโคติน สารพิษต่างๆ เทียบเท่ากับหรือมากกกว่าบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อทุกระบบของร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งผู้สูบและผู้อยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะทำลายสมองและระบบประสาทของเยาวชน ด้วยรูปลักษณ์และสารปรุงแต่งกลิ่นรสของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความยั่วยวนใจให้วัยรุ่นหันมาทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า จนเกิดการระบาดอย่างกว้างขวางในกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ จากบทเรียนและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ พบว่ายังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึง และริลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ ดังนั้นจุดยืนของประเทศไทยคือ ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า โดยห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า
“เสรีภาพของเด็กและเยาวชนเป็นหลักการที่สำคัญ แต่ไม่ควรถูกบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้านำมาบิดเบือนหลอกล่อโดยการตลาดล่าเหยื่อให้เสพติดเป็นนักสูบหน้าใหม่ ที่สำคัญ ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกนิโคติน แถมยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่มวนหรือสารเสพติดประเภทอื่นในเด็กและเยาวชนต่อเนื่องตลอดชีวิต” ศ.พญ.สมศรี กล่าว
ศ.พญ.สมศรี กล่าวต่อว่า เครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหายาสูบไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดังนั้น จึงขอประกาศ “ปฏิญญา คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ร่วมกัน 1.สนับสนุนให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ภาคการเมือง อุตสาหกรรม และพาณิชย์ ให้ความสำคัญการคุ้มครองสุขภาพเยาวชนอนาคตของชาติจากบุหรี่ไฟฟ้า มากกว่าผลกำไรและภาษี และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เรียกรับผลประโยชน์ โดยเข้าร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ขององค์การอนามัยโลก 2.ส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น โดยเร่งรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านทั้งระบบการศึกษา สนับสนุนให้บรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา และช่องทางอื่นๆ เช่น สื่อออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อสุขภาวะของประชาชนไทยทุกเพศ ทุกวัย อย่างทั่วถึง