เครียด-หัวใจล้มเหลว 2 ภัยร้ายทำลายสุขภาพ
ซึมเศร้าเป็นเหตุ แนะออกกำลังกาย อยู่ใกล้คนใกล้ชิด ช่วยได้
ซึมเศร้าเป็นเหตุ แนะออกกำลังกาย อยู่ใกล้คนใกล้ชิด ช่วยได้
บ่อยครั้งที่เราติดตามดูและฟังข่าว และเป็นที่น่าสังเกตว่าหลายต่อหลายครั้งเรามักพบว่าข่าว “การฆ่าตัวตาย” มักมีสาเหตุมาจาก “ความเครียด” อย่างข่าวนักศึกษาสาวนิเทศศาสตร์ปี 3 มหาวิทยาลัยศรีปทุม เครียดจัดตัดสินใจผูกคอตาย หนีปัญหาการเรียนตกต่ำ ติดเอฟ กลัวโดนพ่อตำหนิ หรือข่าว ชอย จิน ซิล ดาราสาวชื่อดังของเกาหลีใต้วัย 40 ปี ฆ่าตัวตายเพราะเครียดเรื่องข่าวลือเรื่องตนกับดาราหนุ่ม แม้กระทั่งข่าวสถานการณ์บ้านเมือง หรือข่าวความสูญเสียต่างๆ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ย่อมมีผลทำให้เกิดภาวะ…“โรคเครียด”…
หากจะกล่าวว่า “การฆ่าตัวตายเป็นแฟชั่นฮิตของสังคมไปแล้วในวันนี้” ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นการยุยงส่งเสริม เพราะการตายไม่ว่าจะตายแบบไหน วิธีไหน ก็ถือเป็นความสูญเสียนำมาซึ่งความสลดหดหู่แก่ผู้ใกล้ชิดทั้งนั้น
อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า “โรคเครียด” มีสาเหตุจากภาวะจิตใจที่มีความเครียด ซึ่งเป็นภาวะของอารมณ์มักจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะกดดัน น่ากลัว หรือเมื่ออยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ห้อมล้อมด้วยภยันตรายที่มีต่อร่างกายหรือจิตใจ อารมณ์เครียดนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ อาทิ สภาพพื้นฐานทางจิตใจของคนแต่ละคน บางคนเกิดมาพร้อมกับระบบประสาทที่อ่อนไหว ตื่นตัว และเครียดกังวลได้ง่าย การถูกเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น และการดำเนินชีวิตที่แข่งขัน เร่งรีบ ต่อสู้กันมากเกินไป ขาดการพักผ่อน ล้วนแต่ทำให้เกิดความเครียดทั้งสิ้น
โดยความเครียดมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ Acute stress คือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกัน โดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไป ร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิม ฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ เช่น ตกใจ กลัว เป็นต้น
Chronic stress หรือความเครียดเรื้อรัง เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวัน และร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้า ความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง เช่น เครียดกับการทำงานหรือความเหงา เป็นต้น
ความเครียดถือเป็นระบบเตือนภัยของร่างกายให้เตรียมพร้อมที่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การมีความเครียดน้อยเกินไปและมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ อาจส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคปวดหลัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ติดสุรา โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ภูมิคุ้มกันต่ำลง เป็นหวัดง่าย อุบัติเหตุขณะทำงาน กระทั่งการฆ่าตัวตาย
คนที่จะคิดสั้นฆ่าตัวตายนั้น สวนดุสิตโพลล์สำรวจแล้วพบว่า คนที่ยับยั้งกรณีดังกล่าวได้ 62.91% คือ พ่อแม่ รองลงมาคือ คนรักหรือแฟน 24.33% ที่เหลือเป็นปัจจัยอื่นตลอดจนคนรอบข้าง
สถิติคนฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ เป็นคนอยู่ในช่วงวัยทำงานหรืออายุระหว่าง 30-40 ปี รองลงมา คือ ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุการฆ่าตัวตายนั้น หลักๆ มาจากความเครียดและความรัก ถ้า 2 อารมณ์นี้เกิดขึ้นกับใครเข้าแล้ว ถ้าคิดไม่ตกหรือหาทางแก้ไขไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.พนมทวน ชูแสงทอง จิตแพทย์และอาจารย์แพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ได้แนะ วิถีทั้ง 9 แห่งการคลายเครียด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อรู้สึกว่าเกิดความเครียด และยอมรับว่าเราเกิดความเครียดขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ หรือหากมีอาการเครียดมากจนต้องพบแพทย์อยู่แล้ว ทั้ง 9 วิธีนี้สามารถทำควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์ร่วมกันไปเพื่อให้อาการเครียดที่เกิดขึ้นบรรเทาลง
วิถีทั้ง 9 แห่งการคลายเครียด ประกอบด้วย 1. การออกกำลังกาย 2. พูดระบายความเครียด 3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 4. อาหารคลายเครียด 5. พักผ่อนท่องเที่ยว 6. ดนตรีคลายเครียด 7. กลิ่นบำบัด กลิ่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งของการรับรู้ ทางสัมผัสที่สื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกได้ดีอาจลองจุดธูปหอมกลิ่นที่สดชื่น หรือหยดน้ำมันหอมระเหยแล้วนอนหรือทำงานผ่อนคลายไปด้วย 8. ฝึกหายใจคลายเครียด 9. ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
จะรักษาอย่างไรเมื่อเกิดความเครียด ?…การเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจจากคนในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญมาก การแสดงความเป็นมิตร พูดคุย รับฟังสิ่งที่ผู้ที่มีปัญหาโรคเครียดระบายออกมาอย่างตั้งใจและเห็นใจ จะช่วยลดความตึงเครียด ด้วยการสัมผัส จับมือ ปลอบประโลม ให้กำลังใจ ให้รู้สึกปลอดภัย ตลอดจนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้เกิดขึ้น
นอกเหนือจากโรคเครียดแล้ว โรคที่น่าห่วงอีกหนึ่งโรคที่มองข้ามไม่ได้นั่นคือ “โรคภาวะหัวใจล้มเหลว” โรคนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
โรคนี้เองเป็นโรคที่คร่าชีวิต นายเย็น แก้วมณี หรือ “ปู่เย็น” เฒ่าทระนง วัย 108 ปี แห่งลุ่มน้ำเพชรบุรีไป และนี่ได้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียที่ทำเอาคนทั้งประเทศ เศร้า เสียใจ และเป็นการปิดตำนานเฒ่าทรนงไปอย่างน่าเศร้า…
สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว แบ่งออกได้เป็น 3 อย่าง คือ 1. หัวใจต้องทำงานหนักเกินกำลัง จากภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ปริมาตรของเลือดในระบบไหลเวียนมากเกินไป มีความพิการของหัวใจแต่กำเนิด 2. มีความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 3. มีความผิดปกติของเยื่อบุหัวใจ มีน้ำ เลือด หรือหนองภายในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
มีอาการอย่างไร?…ของภาวะหัวใจล้มเหลว ไอตอนกลางคืน อาจมีเสมหะเป็นฟองสีชมพูร่วมด้วย หอบเหนื่อยตอนกลางคืน นอนราบหายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อยง่ายหลังออกแรง ทำงานหนักไม่ได้ อ่อนเพลีย เหนื่อย เวียนศีรษะ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน บวมที่ปลายเท้า ข้อเท้า และกดบุ๋ม
รู้ได้อย่างไร ว่ามีภาวะเสี่ยงหัวใจล้มเหลว…ลองสังเกตอาการของตนเอง หากน้ำหนักเพิ่ม รู้สึกผิวหนังตึง ข้อเท้าบวม รองเท้าหรือผ้าคับ และไอบ่อยขึ้น รู้สึกเพลีย และการทำกิจวัตรประจำวันได้ช้าลง อาจเป็นอาการเริ่มแรกของภาวะหัวใจล้มเหลว ควรรีบมาพบแพทย์
ที่สำคัญ คือการดูแลรักษาตนเองไม่ให้เป็นโรคหัวใจ เพราะโรคหัวใจบางอย่างสามารถป้องกันได้ เช่น โรคหัวใจรูห์มาติก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น พักผ่อนให้เพียงพอ โดยการนอนพักในช่วงกลางวันอย่างสม่ำเสมอ ลดชั่วโมงการทำงานให้สั้นลง หลีกเลี่ยงการทำให้อารมณ์เสียหรือความเครียด จำกัดกิจกรรมต่างๆ ลง ไม่ทำงานที่ออกแรงมากๆ อย่างหักโหม จำกัดอาหารเค็ม จำกัดน้ำดื่ม และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง มาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างสม่ำเสมอ
การดูแลตัวเองที่บ้านเป็นเรื่องที่สำคัญมาก…เพราะคุณหมอคงไม่สามารถมาดูแลเราตลอดเวลาได้ ดังนั้นจึงควรลดการกินอาหารเค็ม ลดอาหารไขมัน ออกกำลังกาย ตามคำแนะนำของแพทย์ ชั่งน้ำหนักตัวเองทุกวัน ถ้าเพิ่มขึ้น 1-2 กก. ใน 1 วัน ควรปรึกษาแพทย์ พักผ่อนให้พอเพียง งดสูบบุหรี่เด็ดขาด สังเกตตัวเอง ถ้าน้ำหนักขึ้น, บวม, เหนื่อยผิดปกติ, นอนราบไม่ได้ ควรจะพบแพทย์ก่อนกำหนด
ทั้งโรคเครียดและภาวะหัวใจล้มเหลว คงจะทำร้ายเราไม่ได้ หากเราดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการใส่ใจออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เหมือนกับการรณรงค์มาตลอดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ให้ความสำคัญเรื่องการออกกำลังกายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาวะที่ยั่งยืน อย่างโครงการล่าสุด มีสโลแกนว่า “แค่ขยับ เท่ากับ ออกกำลังกาย” เพียงเท่านี้คุณก็สามารถมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว…
ที่มา : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update : 14-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์