เครียดตอนท้องเสี่ยงลูกเป็นโรคจิต
วิจัยชี้มีผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก
หนังสือพิมพ์เดอะเดลี่เมล์ฉบับออนไลน์ของอังกฤษรายงานผลการวิจัยล่าสุดซึ่งพบว่าการที่มารดามีความเครียดอย่างรุนแรงในช่วงการตั้งครรภ์ระยะต้นๆ
เป็นต้นว่าความเครียดที่เกิดจากการสูญเสียญาติมิตรทำให้ลูกที่จะเกิดมามีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือโรคจิตชนิดรุนแรงสูงกว่าปกติ
ทั้งนี้นักวิจัยศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของแม่ในช่วงที่ทารกในครรภ์มีอายุระหว่าง 1 ถึง 3 เดือน กับพัฒนาการทางสุขภาพจิตของทารกเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นไป และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่กล่าวถึงนี้ได้แก่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของมารดาอย่างรุนแรงเป็นต้นว่า การสูญเสียบุตรคนก่อน คู่รัก บิดามารดา หรือญาติพี่น้อง หรือว่าใครเหล่านี้เจ็บป่วยอย่างหนัก เป็นต้นว่า ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง
ทั้งนี้นักวิจัยระบุว่าผู้หญิงที่ประสบกับภาวะเครียดรุนแรงเหล่านี้ในระหว่างตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่ลูกจะคลอดออกมาแล้วเป็นโรคจิตเภทเมื่อโตขึ้นสูงกว่าปกติถึง 67% สำหรับโรคจิตเภทนั้นเป็นโรคทางจิตที่มักมีอาการหูแว่วได้ยินไปเอง หรือเห็นภาพไปเอง และมีภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ปัจจุบันโรคจิตชนิดนี้ยังไม่ยารักษาให้หายขาดได้มีเพียงแต่ยาบรรเทาอาการเท่านั้น
ก่อนหน้านี้มีการวิจัยที่ศึกษาได้ผลออกมาในทางเดียวกันกับการวิจัยอันล่าสุดนี้ กล่าวคือการวิจัยก่อนหน้าพบว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์บางอย่าง ซึ่งได้แก่ การติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งเชื้อไข้หวัดด้วย และความเครียดของแม่อาจมีผลต่อความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคจิตเภทของบุตร
ศาสตราจารย์ ฟิลิป เบเกอร์ จากองค์กรการกุศลด้านเด็กเล็กชื่อทอมมี่ส์ ซึ่งให้งบประมาณในการสนับสนุนการวิจัยนี้กล่าวว่า “เราเริ่มทราบกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่าภาวะแวดล้อมที่ทารกในครรภ์ประสบพบเจอมีผลต่อสุขภาพของเขาในระยะยาวจริงๆ”
“และสิ่งที่ผลการวิจัยนี้ได้แสดงให้เราเห็นก็คือความเครียดในระยะต้น ๆ ขณะอยู่ในครรภ์มารดาทำให้ลูกมีความเสี่ยงในการมีปัญหาสุขภาพจิตที่สูงขึ้นได้” ศาสตราจารย์เบเกอร์กล่าวและว่า “ช่วงการตั้งครรภ์ระยะต้นนั้นมักเป็นช่วงที่แม่หลายคนไม่ใคร่ได้ให้ความใส่ใจมากเท่าที่ควรทั้งๆ ที่จริงแล้วเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการตั้งครรภ์ โดยเป็นช่วงที่กำหนดว่าการตั้งครรภ์จะประความสำเร็จด้วยดีหรือไม่”
“ผลการวิจัยนี้ถือว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่แต่เป็นแนวคิดที่ทำให้เราได้มองเรื่องการตั้งครรภ์และผลกระทบของการตั้งครรภ์ต่อสุขภาพของทารกในระยะยาวไปอีกทางหนึ่งเลย” ศาสตราจารย์เบเกอร์กล่าว
อย่างไรก็ดีศาสตราจารย์เบเกอร์ผู้ซึ่งเป็นสูตินรีแพทย์ประจำที่ โรงพยาบาลเซนต์ แมรี่ส์ ในเมืองแมนเชสเตอร์ของประเทศอังกฤษกล่าวว่าคนที่กำลังจะเป็นแม่นั้นไม่ควรจะไปกังวลใจกับเรื่องนี้ให้มากจนเกินไปเพราะท้ายที่สุดแล้วความเสี่ยงเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของคนเราอีกทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างมากแบบนั้นขึ้นในขณะตั้งท้องก็มีไม่มากด้วยเช่นกัน
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 12-02-51