เคมีลำไส้ต้านแบคทีเรียดื้อยา
ทีมนักวิจัยอเมริกันและอังกฤษค้นพบเคมีจากเซลล์ลำไส้สามารถทำให้พิษแบคทีเรียดื้อยา clostridium difficile สิ้นฤทธิ์ ปูทางสู่การป้องกันและปราบเชื้อร้ายนี้ในอนาคต
นิตยสารเนเจอร์ เมดิซีน รายงานความคืบหน้าใหม่ของนักวิจัยทีมศาสตราจารย์ทอร์ ซาวิดจ์ แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัสในสหรัฐ ร่วมกับทีมงานจากมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ ในอังกฤษ ที่พบวิธีที่เซลล์ในลำไส้ต้านสารพิษจากแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาล ซึ่งอาจใช้ต่อกรกับเชื้อดังกล่าวได้ในอนาคต โดยพบว่าเคมีจากเซลล์ ลำไส้ชื่อ gsno (s-nitrosoglutathione) สามารถทำให้พิษจากแบคทีเรีย clostridium difficile (c. difficile) ที่เป็นสาเหตุของอาการอักเสบและท้องร่วงหมดฤทธิ์ได้
ทั้งนี้ c. difficile เป็นหนึ่งในแบคทีเรียจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในลำไส้มนุษย์โดยไม่สร้างปัญหาต่อสุขภาพ แต่การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ในลำไส้มีผลทำให้ c. difficile เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและแพร่กระจายออกจากลำไส้ หลังจากเข้าสู่เซลล์เยื่อบุลำไส้จะผลิตสารพิษออกมาเป็นปริมาณมาก ซึ่งส่งผลทำลายเซลล์และทำให้เกิดอาการอักเสบ รวมถึงอาการตะคริว ไข้ ท้องร่วง และถ่ายเป็นเลือด
อย่างไรก็ดี เคมี gsno กำลังเป็นความหวังที่จะปราบแบคทีเรียดังกล่าวได้ เมื่อพบว่าเคมี gsno ที่เซลล์ลำไส้ปล่อยออกมาโต้ตอบอาการอักเสบสามารถเข้าไปยึดติดกับพิษและป้องกันไม่ให้พิษทำลายเซลล์ฉีกขาด ทำให้พิษไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ได้ การทดลองในหนูพบว่า หนูที่ได้รับเคมีดังกล่าวทางปากมีอัตรารอดชีวิตสูงขึ้น เตรียมทำการทดลองทางคลินิกเพิ่ม ซึ่งอาจปูทางสู่การป้องกันและต่อสู้กับเชื้อดื้อยา c. difficile ได้แม้ยังต้องใช้เวลาอีกนาน
ปัจจุบันเชื้อ c. difficile ถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในโรงพยาบาลต่างๆ เพราะสามารถแพร่กระจายและทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหรือทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยโรงพยาบาลหลายแห่งของอังกฤษยังคงมีผู้ติดเชื้อสูงแม้จะมีจำนวนลดลงแล้ว เช่น ในปี 2010-2011 มีผู้ติดเชื้อ c. difficile 10,414 ราย ลดลงจาก 33,442 ราย ในปี 2007-2008
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้