‘เข้าใจ-ให้โอกาส’ คนไร้บ้าน

'เข้าใจ-ให้โอกาส' คนไร้บ้าน thaihealth


"คนไร้บ้าน"หรือคนเร่ร่อน ถือเป็นสิ่งหนึ่งอยู่คู่กับเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงของไทยอย่าง กรุงเทพมหานคร หรืออีกหลายจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ภาพที่ชาวเมืองคุ้นชิน คือคนที่ผมเผ้ารุงรัง แต่งตัวซอมซ่อ บางรายไม่สวมเสื้อและรองเท้า ถือถุงใบใหญ่ๆ หาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บของเก่าขาย และหลับนอนอยู่ในที่ที่ไม่อาจเรียกว่า "บ้าน" ตามความหมายของคนทั่วไป เช่น อาคารรกร้าง หรือตามริมทางสาธารณะ เป็นต้น


มีการคาดการณ์กันว่า จำนวนคนไร้บ้านในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ราว 30,000 คน ซึ่งสาเหตุที่ต้องออกมาเร่ร่อนก็มีหลายประการ เช่น เป็นคนมีการศึกษาน้อย เมื่อตกงานในช่วงอายุที่มากขึ้นไม่สามารถหางานทำได้จึงต้องมาอยู่ข้างถนน หรือบางรายเคยมีบ้านและมีฐานะดี แต่ครอบครัวมีปัญหา และมองว่าการออกมาเร่ร่อนถึงจะลำบากแต่ก็สบายใจกว่า หรือแม้แต่ผู้เคยต้องโทษเป็นเวลานาน เมื่อพ้นโทษแล้วไม่รู้จะไปไหน ก็ต้องมาใช้ชีวิตข้างถนนดังกล่าว


"ลุงดำ" นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ บอกเล่าในเวทีเสวนา"กระบานการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพในกลุ่มประชากรกลุ่มเฉพาะ" 11 มิ.ย. 2558 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ถึงประสบการณ์ของตนที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านมาแล้ว ไล่ตั้งแต่เคยเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่วันหนึ่ง บริษัทปิดกิจการ ชีวิตจึงเหมือน "ถูกลอยแพ" ด้วยความที่การศึกษาน้อยและอายุมาก ไม่สามารถไปหางานอื่นทำได้ ต้องยังชีพด้วยการเก็บของเก่าขายไปวันๆ หนึ่ง จนต้องมาอยู่ข้างถนนในที่สุด


ลุงดำเล่าต่อไปว่า เมื่อมาเป็นคนไร้บ้าน ชีวิตก็เหมือน "อยู่อีกโลกหนึ่ง" เพราะเสื้อผ้าที่ใส่ก็เก่าและสกปรก ขณะที่น้ำก็ไม่ค่อยได้อาบ เนื่องจากห้องน้ำต่างๆ ต้องเสียค่าบริการและไม่อนุญาตให้ซักเสื้อผ้า ด้วยความที่มีรายได้น้อยมากอยู่แล้ว เงินที่หามาได้จึงต้องเก็บไว้ซื้อ "น้ำและอาหาร" ซึ่งจำเป็นมากกว่า ขณะที่จะไปอาบน้ำหรือซักเสื้อผ้าในที่สาธารณะ ก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่มาขับไล่เพราะอุจาดตาต่อผู้พบเห็น


"พวกเราถูกหลายๆ อย่างกระทำ เรื่องปัญหาสุขภาพช่วงหน้าฝน ไปหาหมออย่างมากก็ได้แค่ยาพารา เพราะว่าเราไม่มีบัตรประชาชนไปแสดงตน เครื่องนุ่งห่มเราก็สกปรกเพราะการนำเงินไปอาบน้ำแต่ละครั้งสามารถนำมาซื้ออาหารได้หนึ่งมื้อ จะไปอาบน้ำที่สาธารณะก็โดนเจ้าหน้าที่ไล่ ค่าตัดผมต่อครั้งก็ 40-50 บาท นี่แหละเป็นเหตุผลที่เราเข้า ไม่ถึงปัจจัย 4" หนุ่มใหญ่ผู้เคยใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านรายนี้ กล่าวลุงดำย้ำว่า ในความเป็นจริงแล้วคนไร้บ้านไม่ได้ "เกียจคร้าน" เสมอไป หากแต่เป็นเพราะข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่เอกสารสำคัญอย่าง "บัตรประชาชน" จะสูญหาย และการพิสูจน์อัตลักษณ์เพื่อทำบัตรใหม่ก็ทำได้ยาก ผลคือเข้าไม่ถึงสิทธิในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง รวมทั้งถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น บางคนแทนที่จะทำงานได้ค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ก็ถูกกดหรือโกงค่าแรงไปบ้าง เป็นต้น


นอกจากจะไม่เกียจคร้านแล้ว เมื่อได้รับ "โอกาส"หลายคนก็สามารถพลิกฟื้นชีวิตจาก "ผู้ขอ" มาเป็น "ผู้ให้" ได้อีกด้วย เช่น ในเวลาต่อมาที่มีการตั้งศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ลุงดำได้ใช้ศูนย์นี้เป็น "จุดเริ่มต้น" ชีวิตใหม่ เมื่อตั้งหลักได้แล้ว ลุงดำได้กลายมาเป็นผู้นำเครือข่ายคนไร้บ้าน ประสานงาน กับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้ผู้มี ชะตากรรมเดียวกันเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ โดยช่วงหัวค่ำทุกๆ วันพฤหัสบดี ลุงดำและเครือข่ายฯ จะออกไปพบปะพูดคุย รับฟังปัญหาของคนไร้บ้าน ที่มารวมตัวกัน ณ ลานคนเมือง กทม. เพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป


สอดคล้องกับ น.ส.นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่กล่าวว่า คนไร้บ้านไม่ต้องการจะเป็นผู้รับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการลงพื้นที่จึงไม่ได้ไปในฐานะ "ผู้สงเคราะห์" แต่ไปอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มองว่าเป็น "คนเท่ากัน"ที่หากได้รับโอกาส ย่อมสามารถพัฒนาตนเองได้


"ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เมื่อเราเคารพในความเป็นมนุษย์และคุณค่าว่าเขาก็เท่าเทียมกับคนทั่วไปเพราะฉะนั้นกระบวนการทำงานจะไม่เป็นการสงเคราะห์ หรือมองว่าเขามีปัญหาแล้วไปแจกสิ่งของให้ แต่เป็นกระบวนการทำงานที่ฟื้นฟูศักยภาพของเขาขึ้นมา เพราะฉะนั้นวิธีการลงไปทำงานคือค่อยๆ สร้างความไว้วางใจกันก่อนและจะทำงานเขาได้ในระยะยาว เมื่อคุยกันได้แล้วก็จะได้สอบถามข้อมูลว่า มีปัญหาอะไร ต้องการการแก้ปัญหาอย่างไร หลายเรื่องต้องมีนโยบายมาหนุนกี่เรื่องให้สามารถยืนขึ้นได้จริงๆ


ช่วงหนึ่งได้ไปคุยกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ก็สนับสนุนงบประมาณลงมาสร้างศูนย์พักชั่วคราวที่บางกอกน้อย เป็นที่เป็นทางการศูนย์แรก ส่วนทางที่ดิน กระบวนการของของผู้ไร้บ้านร่วมกับเครือข่ายของคนจนเมือง รวมตัวกันเสนอกับการรถไฟแห่งประเทศไทยขอเช่าพื้นที่สร้างที่พัก ซึ่งตรงนี้ก็เริ่มมีการร่วมมือจากหลายองค์กร ทั้งทางหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง พอช. ที่สนับสนุนเรื่องงบประมาณ รวมทั้งภาคประชาชนด้วยกัน ช่วยกันยื่นข้อเสนอกับ การรถไฟฯ" เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ระบุขณะที่ น.ส.ขนิษฐา ปรีชานิชคุป ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ให้ความเห็นว่า มนุษย์ไม่อาจอยู่แบบตัวใครตัวมันได้ ต้องรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน รวมถึงคนไร้บ้านด้วย ส่วน พอช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่เพียงสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่เสนอขึ้นมาจากภาคประชาชนเท่านั้น


"เราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ควรจะอยู่โดยลำพัง ทุกคนต้องรวมกลุ่ม เขาถึงจะจัดการตัวเองได้ เป้าหมายคือการสร้างความเข้มแข็งในสังคมและส่งเสริมให้เขาจัดการปัญหาด้วยตัวเขาเอง แล้วเราเป็นแค่ตัวหนุน ส่วนภารกิจรองเราจะใช้เนื้อหาที่ได้มาจากการทำงานกับเขา ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานรัฐ เราก็ไปดูชาวบ้านแล้วก็พัฒนาเป็นนโยบาย ทางสมาคม คนไร้บ้านเองมีแนวคิดเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัย แนวคิดนี้ทำให้สามารถทำงานร่วมกัน " น.ส.ขนิษฐา กล่าวด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวปิดท้ายว่า การเป็นคนไร้บ้านนั้นไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากจะเลือก แต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด คนกลุ่มนี้ต้องถือว่า "เปราะบางที่สุด" เพราะเมื่อเกิดวิกฤติต่างๆ จะได้รับ ผลกระทบรุนแรงเป็นกลุ่มแรก แต่เมื่อมีนโยบายเยียวยาจากภาครัฐ ก็มักจะได้การรับฟื้นฟูเป็นกลุ่มสุดท้ายเสมอ


"ในเคสของผู้ไร้บ้าน มันเป็นผลพวงเป็นผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นผลลัพธ์ของการกระจายรายได้ เป็นผลลัพธ์ของค่านิยมบางอย่าง เช่น ผิดหวังกับการทำงาน นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมแล้ว อีกจุดหนึ่งคือเป็นผลพวงครอบครัวไม่เข้มแข็ง ฉะนั้นกลุ่มคนไร้บ้านไม่ได้เลือก มันเกิดจากผลลัพธ์บางอย่าง ถ้าเราสามารถที่จะร่วมกันใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาบางอย่างร่วมกันกลุ่มคนไร้บ้านจะลดน้อยลง หรือสามารถใช้ชีวิตได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องหายไป แต่น่าจัดให้อยู่กลุ่มคนรูปแบบหนึ่งที่สังคมสามารถยอมรับได้"ดร.ประกาศิต ฝากทิ้งท้าย


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  โดย อรสา อ่ำบัว

Shares:
QR Code :
QR Code