เข้าใจแนะนำ ‘ยุติ’ ปัญหาวัยรุ่นออกจากบ้าน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ขึ้นชื่อว่า “วัยรุ่น” ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ “ไม่แตกต่าง” เมื่อคนคนหนึ่งเริ่มก้าวพ้นวัยเด็กแต่ยังไม่ถึงวัยผู้ใหญ่ มีความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของชีวิต ทว่าแม้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดที่สุดอย่าง “พ่อแม่-ครูบาอาจารย์” จะมีความรักความหวังดี แต่สื่อสารไม่เป็น ผลคือ “ผลักไส” ให้ยิ่ง “ออกห่าง”
ดังเรื่องเล่าของ ปิยดา โพนจันทึก 1 ในผู้เคยเข้าร่วมกิจกรรมอบรม “ทักษะการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ลูก” ที่กล่าวกับคณะสื่อมวลชนเมื่อครั้งติดตามทีมงานของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) วังไทร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา วันที่ 20 ก.ย. 2559 ว่าเพียง…ปรับ “คำพูด-น้ำเสียง-ท่าที” ก็ “คุยกับลูก” ได้มากขึ้น
“เมื่อก่อนลูกกลับบ้านช้าหรือผิดเวลาหน่อย ก็จะถามว่า…ไปไหนมา? ทำไมมาช้า?..หลังจากอบรมไปแล้วก็รู้ว่าลูกอยากให้พ่อแม่พูดดีๆ เราก็จะถามว่า..หนูไปไหนมา?..ทำไมหนูไม่บอกแม่ก่อน?..หนูกลับบ้านช้าแม่เป็นห่วงรู้ไหม?..พอแบบนี้ลูกก็จะซาบซึ้ง รู้ว่าพ่อแม่ก็รักและเป็นห่วง นำมาซึ่งการพูดจาที่เข้าใจกันมากขึ้น” ปิยดา ระบุ
คุณแม่รายนี้ที่มีลูกสาววัยรุ่น 2 คน เล่าต่อไปว่า กิจกรรมที่ รพ.สต.วังไทร ร่วมกับเครือข่ายใน จ.นครราชสีมา ทำขึ้น สิ่งแรกคือให้เด็กและเยาวชน จับกลุ่มระดมความเห็นกันว่า “อยากได้พ่อแม่แบบไหน?” ในเวลาเดียวกัน..ฝ่ายผู้ใหญ่ก็จับกลุ่ม “อยากได้ลูกแบบใด?” ก่อนสรุปและนำมาเสนอให้อีกฝ่ายรับฟัง“แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ซึ่งกันและกัน..นำไปสู่ “ความไว้ใจ” จนลูกกล้า “เปิดอกเล่า” ไม่ปิดบัง
“เราเลี้ยงลูกแบบร่วมสมัย เป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นแม่ เราก็จะได้ความไว้วางใจจากลูก ลูกมีอะไรก็จะเล่าให้เราฟังหมด ไปโรงเรียนเป็นยังไง คบกับใคร ลูกจะกลับมาเล่าประจำ หรือเวลามีการบ้านมีอะไรทำที่โรงเรียน ก็จะมาเล่าให้ฟัง เวลามีปัญหาหนุ่มสาวซึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ วัยรุ่นมันก็ต้องมีการชอบพอกัน เราก็ต้องเปิด เพราะถึงเราไม่เปิด ลูกเขาก็คงไปหาเอง ก็บอกว่า..คบใครแม่ไม่ว่า แต่ขอแม่รู้จักผู้ชายของลูกด้วย แม่จะได้รู้ว่าเขาเป็นคนประมาณไหน?..เราก็จะได้รู้ความเป็นไปของลูกด้วย” คุณแม่รายนี้ เล่าถึงสิ่งที่เปลี่ยนไป
ด้าน ดลฤดี สุรินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) วังไทร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 1 ในทีมวิทยากร กล่าวว่า เมื่อครั้งเริ่มกิจกรรม ได้เชิญครอบครัว “กลุ่มเปราะบาง” อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงปัญหาท้องไม่พร้อมและปัญหาอื่นๆ ของวัยรุ่น ในพื้นที่ตำบลวังไทรราว 30 ครอบครัวมาเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อหวัง “เปิดใจ” ทำให้พ่อแม่กล้าคุยกล้าสอนเพศศึกษากับลูก แต่ก่อนจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ “สัมพันธภาพ” ในครอบครัวต้อง “แน่นแฟ้น” เสียก่อน
“เราเริ่มกันด้วยเรื่องสัมพันธภาพ เราบอกให้รักกันก่อน บางทีพ่อแม่พอโตแล้วการที่จะกอดลูกสาวลูกชายมันเป็นเรื่องน่าอาย ก็ไม่กล้า ลูกเองเมื่อโตแล้วก็ไม่กล้าที่บอกรักพ่อรักแม่ คือการแสดงออกมันไม่ตรงกับความรู้สึก กระบวนการที่เราทำไม่ได้เน้นแค่ให้พูดเรื่องเพศ แต่ทำยังไงให้พูดเรื่องอื่นให้ได้ก่อน สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกต้องดีก่อน ลูกต้องกล้าที่จะพูดความรู้สึกกับพ่อแม่ก่อน” ดลฤดี ระบุ
สอดคล้องกับที่ ธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านงานแนะแนว เคยกล่าวกับคณะครูและผู้ปกครองที่มาร่วมงานเสวนา “แนวโน้มและผลกระทบจากการศึกษาในยุค Digital Economy” เมื่อกลางเดือน ส.ค. 2559 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ว่า..วันนี้เด็กไทยในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั้งหมดราว 7 ล้านคน “มีถึง 5 ล้านคน ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง” ขณะที่สถาบันครอบครัวไทยยัง “น่าเป็นห่วง” ฉะนั้นเมื่อเด็กเกิดปัญหาในชีวิตไม่ว่าด้านใด ก็อาจต้อง “หลุด” จากระบบโรงเรียนไปในที่สุด ฉะนั้นบทบาทของ “ครู”ในฐานะ “พ่อแม่คนที่สอง” ก็ต้องช่วย “ประคับประคอง” เป็นพี่เลี้ยงนำพาให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ด้วยดี..โดยเฉพาะการสร้างความรู้สึก..“มองเห็นคุณค่าในตนเอง”
“เด็กจะหลุดหรือไม่หลุดจากระบบโรงเรียน ถ้าท่านอ่านสัญญาณเป็น แล้วพยายามให้กำลังใจเขา รับรองว่าเด็กเขาจะเดินต่อไปได้เอง เรื่องกระบวนการเรียนรู้วันนี้เด็กทำเองได้หมด ไปไกลกว่าเราด้วย กว้างกว่าเราเยอะ แต่สิ่งที่เด็กต้องการคือกำลังใจ และกระบวนการที่เป็นกัลยาณมิตร วันนี้ครูต้องเป็นเพื่อนมากกว่าครู เป็นผู้บอกทางมากกว่าผู้สอน” ผู้เชี่ยวชาญด้านงานแนะแนวจาก สพฐ. ฝากข้อคิด