เข้าพรรษาปลอดบุหรี่
เหมือนเช่นเคยในทุกๆปี เมื่อเข้าสู่ช่วงพรรษา การลด-ละ-เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะถูกหยิบยกขึ้นมารณรงค์กันอยู่เสมอๆ
แต่สำหรับเข้าพรรษาปีนี้ "มจร.-สสส.คลินิกฟ้าใส-มูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่" ขอผนึกกำลัง ชักชวนพ่อแม่พี่น้องทุกท่านมาร่วมมือกันในโครงการ "เข้าพรรษาปลอดบุหรี่ พระสงฆ์สุขภาพดี ฆราวาสได้บุญ"
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มีการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ แพทย์ และครู ในปี 2530 พบพระภิกษุสงฆ์มีอัตราการสูบบุหรี่54.5 เปอร์เซ็นต์ แพทย์ 23.3 เปอร์เซ็นต์ และครู23.3 เปอร์เซ็นต์ จึงมีการ ตั้งเป้าดำเนินการลดอัตราการสูบบุหรี่ใน3 กลุ่มดังกล่าว เนื่องจากต้องพบเจอประชาชน จำนวนมาก เป็นที่เคารพนับถือเป็นตัวอย่างและ สอนคนอื่นๆ ในสังคมได้
จนเมื่อปี 2547 พบว่า อัตราพระที่สูบบุหรี่ลดลง เหลือ37.2 เปอร์เซ็นต์ ปี 2552 ครูลดลงเหลือ 8.8 เปอร์เซ็นต์ และปี 2555 แพทย์เหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่ากลุ่มพระภิกษุสงฆ์มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงน้อยกว่ากลุ่มครู และแพทย์ และมีอัตราการสูบบุหรี่เกือบเท่ากับอัตราการสูบบุหรี่ของชาวบ้านทั่วไป "ปัจจัยสำคัญที่พระภิกษุสงฆ์มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงน้อยกว่ากลุ่มครู และแพทย์อาจเนื่องจากติดบุหรี่ตั้งแต่ก่อนการบวช อีกทั้งไม่มีการ รณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ในกลุ่มพระมากนักแม้มี กฎหมายให้วัดเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ก็ไม่มีการเข้า ไปกวดขันจับกุม ไม่เหมือนโรงพยาบาลที่กำหนด ไว้ในการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลหากมีการ ฝ่าฝืนเรื่องการสูบบุหรี่จะไม่ผ่านการรับรอง นอกจากนี้ ยังมีการถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์โดยเฉพาะในชนบทที่มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเข้าพรรษาจึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการรณรงค์ เรื่องการลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น" ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริม สุขภาวะพระสงฆ์และวัดทั้งผลักดันนโยบายสาธารณะให้เกิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็นพระสงฆ์กับสุขภาวะ ร่วมกับกรมอนามัย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขับเคลื่อน สุขภาวะพระระดับประเทศ
สำหรับการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์ ได้ ร่วมกับ มจร. และคลินิกฟ้าใสลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ในพระสงฆ์ นำร่อง 15 จังหวัดทั่วประเทศ ใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.เชื่อมประสานเครือข่ายการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์และบุคลากรของวัด 2.จัดเวทีและพื้นที่ในการถวายความรู้ และ 3.สร้างพื้นที่การป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดบุหรี่เชิงลึก โดยขยายเครือข่ายจากการทำงานของ มจร. และ สสส.
พระราชวรมุนี(พล อาภากโร) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า นอกจากการร่วมลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ในพระสงฆ์ มจร.ยังให้การสนับสนุนในเชิงวิชาการสำหรับโครงการหมู่บ้านศีล 5 อันเป็นนโยบายของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่คณะสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการแล้วในหลายจังหวัด เพื่อการลด ละ เลิก อบายมุขอย่างยั่งยืนด้วย
ทั้งนี้ การทำทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ 3 คือ1.วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทาน ต้องเป็นของที่ได้มาโดยสุจริตชอบธรรม 2.เจตนาบริสุทธิ์ เพื่อกำจัดความตระหนี่ออกจาก ใจตน และ 3.บุคคลบริสุทธิ์ เลือกให้แก่ผู้รับที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
สำหรับ "บุหรี่" นั้น ตามหลักศาสนาถือว่าเป็น "เมรย"ตามศีลข้อ 5 หมายถึงสิ่งเสพติด ซึ่งพระพุทธเจ้าห้ามมิให้ส่งเสริมมิจฉาวณิชชา คือการค้าขายที่ผิด หรือไม่ชอบธรรม เช่นการขายอาวุธ การขายสุราและของมึนเมา เข้าพรรษานี้ เป็นโอกาสดีที่จะตั้งจิตกุศลเป็นเบื้องต้นในการไม่ถวาย รวมถึงเลิก ลด ละ สิ่งเสพติดทั้งหลาย อันจะได้อานิสงส์ในการรักษาสติปัญญา และสังคม มูลเหตุสำคัญทำให้บุคคล และสังคมมีความสุขความเจริญ
ในฐานะที่เคยบวชเรียนมาก่อน แต๊งค์- พงศกร มหาเปารยะ เผยว่า การรณรงค์ให้ประชาชนไม่ถวายบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษานี้ น่าจะ เป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันสนับสนุนการลดการสูบบุหรี่เพื่อลดโอกาส และความเสี่ยง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพของพระสงฆ์
ที่สำคัญ คือ นี่ยังถือเป็นการทำบุญด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ