เขตภาษีเจริญ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สุขภาวะ
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
จัดนิทรรศการ "พื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญ : แค่คุณปรับ…พื้นที่ก็เปลี่ยน…เป็นพื้นที่สุขภาวะ"
17 ม.ค.60 ที่พื้นที่ใต้สะพานบางขี้แก้ง แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กทม.ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ ชุมชนและภาคีเครือข่ายจัดนิทรรศการ "พื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญ : แค่คุณปรับ…พื้นที่ก็เปลี่ยน…เป็นพื้นที่สุขภาวะ" นำเสนอบทเรียนผลงานเชิงประจักษ์ในการจัดการข้อจำกัดของพื้นที่เมือง ให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เอื้อต่อกิจกรรมสุขภาวะ ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) ในบริบทเขตเมือง
ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการ ศวพช.มหาวิทยาลัยสยาม และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าวว่า ในวันนี้พื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ หรือพื้นที่ที่จำกัดของ 53 ชุมชน ในเขตภาษีเจริญได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะแล้วกว่า 12,204 ตารางวา ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับราคาที่ดินตามการประเมินแล้วจะพบว่า พื้นที่เหล่านี้มีมูลค่าถึง 212 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับกระบวนทัศน์ของคนในพื้นที่ในการร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาของชุมชนเอง ปัจจุบันยังขยายพื้นที่ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะกว่า 10 พื้นที่ ทั้งชุมชน สถานประกอบการ โรงเรียน แต่ละพื้นที่มีจุดเด่ดที่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดบทเรียนดีๆ สู่พื้นที่อื่น
ด้าน ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 ประเภท รวม 741 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ 1.พื้นที่สุขภาวะย่านเมือง 2.พื้นที่สุขภาวะชุมชน 3.พื้นที่สุขภาวะเส้นทางสัญจร 4.พื้นที่สุขภาวะย่านริมน้ำ 5.พื้นที่สุขภาวะสวนสาธารณะ 6.พื้นที่สุขภาวะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 7.พื้นที่สุขภาวะองค์กร และ 8.ชุมชนเมืองจักรยาน พร้อมกับขยายเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นทุกปี
ขณะที่ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้เป็นนโยบายที่นักศึกษาจะต้องร่วมเรียนรู้การเข้าถึง และรับใช้สังคมและชุมชนด้วย โดยใช้พื้นที่ชุมชนเขตภาษีเจริญ เป็นห้องเรียนทางสังคม ด้วยมุ่งหวังในการสร้างนักศึกษาที่มิใช่เรียนรู้วิชาในห้องเรียน แต่ต้องเรียนรู้ศาสตร์จากสังคม จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตในปัจจุบันได้ด้วยความรู้สึก จิตสำนึกที่ต้องเกื้อกูลสังคม และคาดว่าจะขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ของ กทม.
นายสมชีพ ไชยเขตต์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ กล่าวว่า นับตั้งแต่ ศวพช. , มหาวิทยาลัยสยาม และ สสส.ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเขตภาษีเจริญให้เป็นพื้นที่สุขภาวะนำร่องเขตแรกของ กทม.เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยทางเขตภาษีเจริญพร้อมเป็นพื้นที่ที่จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานกับพี่น้องเขตอื่นๆ ของกทม.ต่อไป เนื่องด้วยขณะนี้ มีนโยบายของกรุงเทพฯ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ชุมชนมีสุขภาวะดีด้วย