เกิดน้อย แต่อยู่นาน จุดแรกเริ่ม “สังคมสูงวัย”

ที่มา : Good Factory


เกิดน้อย แต่อยู่นาน จุดแรกเริ่ม “สังคมสูงวัย” thaihealth


แฟ้มภาพ


ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10) ตั้งแต่ปี 2548 คาดว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์(มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20) และเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574(มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28)


ถึงแม้เราจะใช้สัดส่วนจำนวนประชากรสูงอายุเป็นตัวชี้วัด แต่ไม่ได้ความว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัย จะมีแต่เรื่องผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว เพราะการเข้าสู่สังคมสูงวัยมีผลมาจาก 2 ปัจจัย คือ


1) อัตราการเกิดลดลง ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราการเกิดของประเทศไทยลดลงอย่างมาก จากปี 2526 มีทารกเกิดใหม่จำนวน 1,055,802 คน หรือ 21.3 คน ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ปัจจุบันลดลงเหลือ 704,508 คน หรือ 10.7 คน ต่อประชากร 1,000 คน


เมื่อประชากรเกิดใหม่ลดลง ย่อมส่งผลถึงจำนวนวัยแรงงานในอนาคต สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป


2) อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและความรู้ทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ทำให้อายุไขเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี 2507–2508 เพศชายมีอายุคาดเฉลี่ย 55 ปี ส่วนเพศหญิงมีอายุคาดเฉลี่ย 62 ปี แต่ปัจจุบัน อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยทั้งชายและหญิง เพิ่มขึ้นเป็น 76 และ 83 ปี ตามลำดับ ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดีของเพศชายคือ 63 ปี และเพศหญิง คือ 69 ปี


เมื่อทารกเกิดใหม่ลดลง แต่คนที่อยู่ปัจจุบันกลับมีอายุยืนยาวขึ้น จึงส่งผลให้สัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ในปี 2563 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงวัยมากกว่าวัยแรงงาน และในปี 2573 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยถึงร้อยละ 27 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด


การลดลงของสัดส่วนวัยเด็กและวัยแรงงาน ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ภาระในการดูแลผู้สูงวัยซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า “สังคมสูงวัย” ไม่ใช่แค่เรื่องของคนแก่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ และส่งผลต่อเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


คำถามสำคัญ คือ ในสถานการณ์สังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เราได้เตรียมความพร้อมในการรับมือแล้วหรือยัง…?

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ