‘เกาะยาวใหญ่’ รวมใจป้องกันโรค NCDs ต้องเริ่มที่ EF
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
อีกเรื่องราวของชาวเกาะยาวใหญ่กับปฏิบัติการสร้างสุขภาวะในสไตล์ "สร้างนำซ่อม" เมื่อหมอหนุ่มคนดัง "หมอนิล" นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร เกิดปิ๊งไอเดีย จับมือกับชุมชน ร่วมกันคิดและออกแบบ แก้ปัญหาโรค NCDs ที่ต้นตอ กับการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ด้วยแนวคิด EF
หากจำกันได้ เมื่อสิบกว่าปีก่อนในสื่อต่างๆ ยังมีเรื่องราวที่สร้างความประทับใจและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน นั่นคือเรื่องราวของหมอหนุ่มไฟแรงชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช "หมอนิล" นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษประจำโรงพยาบาลเกาะยาว สาขาสถานีอนามัยตำบลพรุใน (ศูนย์แพทย์ชุมชนพรุใน) จังหวัดพังงา ที่เป็นมากกว่าแค่แพทย์ผู้รักษา หากหมอนิลยังอาสาดูแลความป่วยไข้พี่น้องชาวเกาะยาวใหญ่ ด้วยแนวการดูแลสุขภาพแบบนอกกรอบ และการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยแนวทางการสร้างสุขภาวะให้กับพี่น้องในชุมชนเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นหัวใจสำคัญ
ปัจจุบัน หมอนิลยังคงเป็นแพทย์คนดังขวัญใจชาวเกาะยาวใหญ่ให้ความนับถือ โดยวันนี้เขาหันมาทุ่มเทความสนใจในเรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นพิเศษ หมอหนุ่มยังร่วมกับแกนนำและสมาชิกในชุมชนพัฒนาแนวทางการดูแลสุขภาพ และพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคนเกาะยาวไปสู่สุขภาวะอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการโรงเรียนชีวิต การพัฒนาสร้างแกนนำกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ผ่านโครงการ Design Thinking และโครงการอาหารในโรงเรียน เป็นต้น
"เกาะยาวใหญ่" อยู่ในพื้นที่จังหวัดพังงา ได้ชื่อว่าเป็นเกาะ 3 เมือง เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่าง 3 จังหวัด ที่นี่มีประชากรอพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่กว่าหมื่นคน รุ่นแรกๆ มีทั้งอพยพมาจาก ต.เกาะยาวน้อย จากจังหวัดสตูล ตรัง พังงา เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน มาตั้งรกราก ต่อมาในช่วงหลังยังมีพี่น้องจากเมียนมา เชื้อสายมอญ เขมร ที่เข้ามาทั้งอยู่อาศัยและเป็นแรงงานรับจ้าง ทำประมง คืออาชีพหลักของคนเกาะยาว ประชากรที่นี่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นับถือศาสนาอิสลาม
หากมองปัญหาด้านสุขภาพ ชาวเกาะยาวส่วนใหญ่เจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่ม NCDs เป็นอันดับต้นๆ ไม่แตกต่างกับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากพฤติกรรมด้านสุขภาพเป็นหลัก การทำงานของหมอนิลจึงมุ่งเน้นที่การมองหาการสร้างกระบวนการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชนเป็นหลัก
"มาทำงานที่นี่สิ่งที่ผมสนใจคือ เรื่องโรคเรื้อรังกลุ่มนี้แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ดังกล่าวได้ ต้องทำงานผ่านสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ แต่เรามองว่าใช้เวลานาน และเห็นผลช้า บางรายก็เปลี่ยนไม่ได้ ก็เลยมาคิดใหม่ว่า หากอยากจะป้องกันทางที่ดีที่สุด คือเราต้องส่งเสริมให้เขาหันมาดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก น่าจะช่วยลดได้ในระยะยาว ก็เลยเกิดความคิดอยากฝังความรู้นี้ให้กับชุมชน ตั้งแต่วัยเด็กไปเลย"
หลังจากที่ตั้งเป้าว่าภายในสิบปีต่อจากนี้ จะโฟกัสการส่งเสริมสุขภาวะกับกลุ่มเด็กในชุมชนเป็นหลัก ด้วยเครื่องมือสำคัญที่หมอนิลนำมาใช้ก็คือ EF หรือ Executive Function ซึ่งเป็นการทำงานของสมองด้านการจัดการ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต โดยอาศัยกระบวนการทางปัญญา (cognitive process) ต่างๆ เช่น การยับยั้งความคิด การแก้ปัญหา การวางเป้าหมาย การวางแผนการปฏิบัติ เป็นความสามารถในการควบคุมความคิดตนเอง หรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดและความสนใจตามสถานการณ์ไปในทิศทางบวก
ซึ่งหมอหนุ่มยอมรับว่า ตอนแรกเขาเองก็ไม่รู้จักแต่พอมาศึกษาทำให้รู้ว่าหากเด็กได้รับการพัฒนาในเรื่องอีเอฟ จะบ่มเพาะให้เด็กเป็นคนมีความอดทน และจะมุ่งมั่นทำให้สำเร็จในการป้องกัน หรือปรับปรุงตัวเองไม่ให้เกิดโรคได้
"แต่เราพบว่าเด็กส่วนใหญ่ในชุมชน มีปัญหาเรื่องพ่อแม่ต้องไปทำงาน แล้วปล่อยลูกหลานอยู่กับปู่ย่าตายาย หรือคนรับฝากเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่จะปล่อยให้เด็กอยู่กับมือถือ เพราะเขาเองก็ต้องทำงานบ้านหรือทำอาชีพอื่น ซึ่งเขาไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับเด็ก อีกทั้งพ่อแม่จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลาให้ กลัวลูกรู้สึกขาดก็จะสปอยล์ ทำให้เด็กมีบุคลิกภาพไม่ค่อยอดทนรอคอย อยากได้อะไรต้องได้ เริ่มมองเห็นแต่ตัวเอง"
มอกล่าวต่อว่าในความเป็นจริง หากต้องการให้เด็กมีพัฒนาการเติบโตตามวัย เด็กจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาการในเรื่อง อีเอฟตั้งแต่ช่วงวัย 1-6 ปี เพราะเป็นช่วงที่ระบบประสาทและพัฒนาการสมองต่างๆ เหมาะสมที่สุด หากแต่การเล่นแต่มือถือทำให้เด็กขาดการพัฒนาที่ควรจะเป็น ซึ่งก้าวแรกของกระบวนการ จึงต้องดึงบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อน เรื่องนี้มากที่สุด นั่นคือพ่อแม่และครู ที่จะมาช่วยกันออกแบบและร่วมกันหาแนวทาง
"เรามองว่าเป็นเรื่องของเขา คือชุมชน เขาควรจะรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ในห้องเรียน เป็นการเรียนรู้จากสิ่งเป็นจริง ผมจึงเข้าไปในโรงเรียนก่อนเพื่อทำเรื่องโภชนาการในโรงเรียน ทีนี้ เรามองว่ายังมีหลายองค์ประกอบอีกที่ต้องประกอบกัน"
หมอหนุ่มเอ่ยต่อว่า จึงเริ่มจากนำงานวิจัยเรื่องอีเอฟ ที่ได้จากมหาวิทยาลัยมหิดลมาให้ครูลองทำแบบทดสอบ
"ผลคือเด็กไม่ตกจากมาตรฐานนะ แต่เราเห็นคะแนนในส่วนการยับยั้งชั่งใจและความอดทนของเด็กมีแนวโน้มค่อนข้างต่ำ จึงเอาผลดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนมุมมองกับพ่อแม่ เพื่อคุยว่าลูกเขามีพฤติกรรมแนวนี้หรือเปล่า เพื่อให้พ่อแม่มองเห็น เรียกว่าเป็นการสร้างความตระหนัก
ต่อมาจึงเชิญวิทยากรมาคุยในด้านวิชาการ ที่ถูกต้อง เราจัดให้ทั้งหมอ พ่อแม่ และครู ไปเรียนรู้เรื่องอีเอฟ เพื่อกลับมาช่วยออกแบบกระบวนการเตรียมความพร้อมเด็กในสิบปี ร่วมกันถอดบทเรียน ซึ่งเราก็ไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด เพราะต้องดูบริบทความเหมาะสมของพื้นที่ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันไปเรื่อยๆ"
หลังเดินหน้าในกลุ่มผู้ใหญ่จนเริ่มจะได้รับการตอบรับ ซึ่งในส่วนของกิจกรรมเด็กเอง มีการจัดรูปแบบกระบวนการเพื่อให้เด็กฝึกการใช้ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่านกิจกรรมต่างๆ การเล่นวาดรูป โดยใช้สีและวัสดุ จากธรรมชาติ ฝึกทำบัวลอยกับพ่อแม่ เพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องสี เป็นต้น
แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเสริมพัฒนาการสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องนี้ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.ให้ข้อมูลว่า ชุมชนไทยส่วนใหญ่มักมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนน้อย ทำให้เด็กใช้เวลาว่างที่เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรม ไม่เหมาะสม เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมมากเกินไป กินอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย ทำให้เด็กยังขาดโอกาสในการมีสุขภาวะที่ดี และ เข้าไม่ถึงกิจกรรมสันทนาการที่มีประโยชน์ เช่น การเรียนดนตรี ดูหนังฟังเพลง วาดภาพสร้างงานศิลปะ เป็นต้น
แม้เพิ่งจะเริ่มมาได้ไม่นาน แต่หลายฝ่ายในพื้นที่ต่างยินดีที่ร่วมมือกัน ซึ่งอีกหนึ่งการ ขับเคลื่อนระดับนโยบายของท้องถิ่น คือวันนี้หลายฝ่ายกำลังหาทางออกเรื่องการดูแลเด็กว่าหากพ่อแม่ต้องออกไปทำงานไม่มีเวลา เลี้ยงดูลูกชุมชนควรจะมีการจัดตั้งศูนย์ดูแล โดยเฉพาะหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องมาร่วมกันคิดต่อไป