เกษียณแล้ว (อยาก) เรียนอะไรก็ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"มหาวิทยาลัยของเรา จึงเหมือนมหาวิทยาลัยชีวิต ที่เขาจบจากการเรียนเรื่องชีวิตของเขามาจนถึงเวลานี้ แล้วมาศึกษาต่อกับเราที่นี่" หลังผ่านมหาวิทยาลัยชีวิตมากว่า 60 ปี ผู้สูงวัยแต่ละคนอาจออกแบบชีวิตปลายทางที่แตกต่างกันไป
มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่มีชีวิต หลังเกษียณอย่างไร้ความหมาย และ ต้องอยู่อาศัยเพียงลำพังไม่มีลูกหลานดูแลเอาใจใส่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
มารู้จักกับผู้สูงอายุรุ่นใหม่ ยุค 4.0 ที่มีหัวใจเรียนรู้แบบไม่รู้จบ ที่จะเปลี่ยนภาพความคิดของคนทั่วไปที่เคยคิดถึงวัยชราทีไร ภาพผู้สูงอายุ "ติดเตียงติดบ้าน" ก็ลอยมาทันที
เพราะแม้ผู้สูงวัยบางคนร่างกายจะเสื่อมลง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงอายุต้องเปราะบางหรือเป็นภาระเสมอ กลับมีใจไม่ยอมท้อถอย และวันนี้ "พวกเขา" จึงเลือกที่จะสะพายกระเป๋า หอบสมุดเลคเชอร์ เดินเข้าสู่ประตูรั้ว "มหาวิทยาลัย" อีกครั้ง
อายุเป็นเพียงตัวเลข
ช่วงเวลาที่ทุกคนมองหาทาง ว่าจะไปอย่างไรดีกับสถานการณ์ "สังคมสูงวัย" ที่กำลังกลายเป็นวาระระดับชาติ
หากย้อนไปมองข้อดีอีกมุมของ วัยสูงอายุ จะเห็นว่าเป็นวัยที่มีความเป็นอิสระมากกว่าช่วงวัยอื่นของชีวิต สามารถเลือกทำในสิ่งที่เหมาะสมตามที่ตนเองปรารถนาได้ เนื่องจากไม่ต้องแบกภาระและความรับผิดชอบด้านการเลี้ยงดูครอบครัวอีกต่อไป
ถึงสูงวัยแต่ผู้สูงอายุหลายคนยังคงมีศักยภาพ มีภูมิปัญญาทั้งในด้านภูมิความรู้ และประสบการณ์การดำเนินชีวิต จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ที่ "เชียงราย" อีกจังหวัดที่กำลังเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุในวันนี้ ด้วยอัตราสถิติเฉพาะผู้สูงอายุในเขตตัวเมืองเชียงรายแห่งเดียวที่พุ่งไปถึง 11,615 คน และยังมีแนวโน้มในปี 2565 จะเพิ่มเกิน 20% โดยจากการที่เชียงรายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 เมืองของประเทศไทยในการดำเนินโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่น ผ่านการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และผู้พิการ ขึ้น ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำลัด ภายในเขตเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งรุ่นแรกได้ทำการเปิดสอนไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560
U3A คืออะไร
ในต่างประเทศลักษณะของมหาวิทยาลัย วัยที่สาม หรือ University of Third Ages (U3A) คือเป็นศูนย์รวมของชุมชนของคนวัยเกษียณที่ยังเห็นคุณค่าของการ "เรียนรู้" และมองว่าคือรีวอร์ดในชีวิต
เมื่อแต่ละคนมีความรู้หรือความสามารถ ไม่เหมือนกัน ในบางวันพวกเขาอาจเป็นอาจารย์ ในวิชาหนึ่ง ขณะเดียวกันก็อาจสลับบทบาทมาอยู่ในฐานะลูกศิษย์อีกวิชาหนึ่งเช่นกัน
U3A มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่ง 35 ปี ที่ผ่านมามีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบนี้ มาแล้วมากกว่าหนึ่งพันแห่ง และมีนักศึกษามากกว่า 40,000 คนทั่วโลกที่สนใจลงหลักสูตรมากกว่าพันหลักสูตร ซึ่งหากนับเรื่องที่พวกเขาสนใจอาจมีมากมายและคาดไม่ถึง ตั้งแต่ ดนตรี ศิลปะ ไปจนถึง เทคโนโลยี หรือแม้แต่การเป็นนักสัตวิทยา
เหตุเพราะหลายคนเกษียณอายุแล้ว ยังไม่หมดไฟ และยังมีใจใฝ่หาความรู้ พวกเขาลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและไม่ยอมปล่อยตัวเองให้เป็นภาระสังคม
U3A จึงตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคน "วัยที่สาม" หรือ "third age" คือกลุ่มคนที่พ้นวัยทำงานและผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแล้ว เช่นเดียวกับ ในเทศบาลนครเชียงราย
"ผู้สูงอายุในเชียงรายประมาณ หมื่นกว่าคน แต่ประมาณเจ็ดพันคนของ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ยังเป็นผู้สูงอายุที่สามารถ ใช้ชีวิตและมีกิจกรรมในสังคมได้ เพราะฉะนั้นที่อยู่กับเราพันคนแล้ว" อุบลวรรณ แสนมหายักษ์ ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย บอกเล่า
อุบลวรรณ เล่าว่า จริงๆ แล้วผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยากมีกิจกรรม อยากเรียนรู้ในสิ่งที่ ตัวเองยังไม่รู้ เพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีให้ตัวเอง
"ส่วนหนึ่งที่เขามาเพราะเขาเหงา…" อุบลให้ข้อมูลต่อ "มหาวิทยาลัยของเราจึงเหมือนมหาวิทยาลัยชีวิต ที่เขาจบจากการเรียนเรื่องชีวิตของเขามาจนถึงเวลานี้ แล้วมาศึกษาต่อกับเราที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่ต้นทุนเขามีอยู่แล้ว บางคนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย พอเริ่มเป็นเขาไปซื้อโทรศัพท์ใหม่ตั้งกลุ่มกันเองเรียบร้อย"
ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ จะเน้นการออกแบบหลักสูตรมีรากฐานจากการตามใจ ผู้เรียนเป็นอันดับแรก โดยหลักสูตรที่สอน จะใช้วิธีให้ผู้สูงอายุมาคุยกันใครอยาก เรียนอะไร หรือเรื่องใดที่อยากรู้ และ เป็นประโยชน์ แล้วแมปปิ้งออกมา
"ตอนแรกก็ได้มาเป็นร้อยๆ หลักสูตร ร้อยกว่าเรื่องเลยนะ แต่ได้ราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ที่นครนายก มาเป็นพี่เลี้ยง ช่วยเรากรุ๊ปปิ้ง จนทำให้เห็นแนวทางหลักสูตรว่าควรจะเป็นตามอัธยาศัยผู้เรียน ซึ่งพอมาเทียบหลักสูตรที่ทำ ก็ไปตรงกับพระราชบัญญัติของการศึกษาที่เกี่ยวกับระบบการศึกษา ตามอัธยาศัย ทำให้เราสามารภขอใช้ งบประมาณการศึกษาตามอัธยาศัยได้"
ซึ่งแม้ U3A เชียงรายไม่ใช่ที่แรก ในไทย เพราะเคยมีการจัดตั้งขึ้นที่ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากแต่ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอน เป็นหลักสูตรเหมือนที่นี่
"ของเราเน้นหลักสูตรเป็นเรื่องราว เราสอนทุกวัน วันละ 8-11 วิชา โดยจะมีการสอน 3 ระดับ คือระดับเบื้องต้น กลาง และสูง ซึ่งนักศึกษามหาวิทยาลัย วัยที่ 3 ต้องมีการอัพเลเวลตัวเอง"
สำหรับอุบลวรรณเองเป็นหนึ่งที่เข้าข่าย "วัยที่สาม" ซึ่งนับว่าเป็นผู้สูงวัยที่มีต้นทุน ผ่านประสบการณ์เป็นผู้บริหารสถานศึกษามาก่อน ซึ่งวันนี้เธอยังได้นำประสบการณ์ในอดีต มาสวมบทบาทผู้อำนวยการ U3A นครเชียงรายอีกครั้ง อุบลเล่าติดตลกว่าชีวิตที่ "ติดสังคม" ของเธอ ทำให้ผันตัวมาทำงานจิตอาสาในวันนี้และส่งผลให้เป็น ผู้สูงอายุที่มีความสดใสกว่าคนวัยเดียวกัน
"จังหวัดเชียงรายต้นทุนเราดี ผู้สูงอายุในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนมีความรู้เหมือนปราชญ์ รวมถึงมีจิตอาสามาช่วยทำให้เราไปได้เร็ว ซึ่งเราจัดตั้งคณะกรรมการเป็นผู้สูงวัยจากหลากหลายวงการที่มาช่วยกัน และยังมีกลุ่มจิตอาสาจากหลากหลายวงการ มาช่วยกันคิด"
โดยจากการสำรวจข้อมูล พบว่านักเรียน U3A เชียงราย มีทั้งข้าราชการระดับสูง บางคนปริญญาโท บางคนเป็น คุณหมอ ปลัดจังหวัด ส่วนใหญ่มีฐานความรู้ แต่บางรายก็อาจเป็นปราชญ์ ที่อ่านหนังสือไม่ออกก็ยังมี สะท้อนว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดกว้างหลากหลาย
ถึงเวลาขยายแคมปัส
"ตอนนี้เราให้นักเรียนของเราที่จบไป ซึ่งตอนนี้เขาก็จะกลายเป็นผู้รู้ในชุมชน และยังมีปราชญ์ชุมชนเป็นคนไปช่วยสอนให้วิทยาเขตอีก 4-5 แห่งที่กำลังจะตั้ง" พรทิพย์ จันทร์ตระกูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ เทศบาลนครเชียงราย เผยถึงแผนที่กำลังจะเกิดขึ้น
ภายหลังจากการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้ U3A สามารถทำงานต่อเนื่องเป็นระยะที่สอง โดยกำลังมองถึงการขยายแคมปัส ออกมาเป็นอีก 4 วิทยาเขต ในเขตนครเชียงรายที่ปัจจุบัน มีชุมชนตั้ง 64 แห่งภายในปี 2561 เพื่อรองรับสมาชิกสูงวัยที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมาก
"เราจะเน้นส่งเสริมด้านสุขภาพเช่นการปลูกพืชสมุนไพร ปลอดสารพิษ โดยแต่ละแห่งเราจะไม่ได้ทำมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่จะทำครอบคลุมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงด้วย"
เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการศึกษา ตามอัธยาศัยของผู้สูงอายุที่ถนัดและ สนใจหรือต้องการ "เรียน" ในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้