เกษตรกรระวังโรคฉี่หนู
ที่มา : กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่7 จังหวัดขอนแก่น แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส เนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกทำให้สภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง เสี่ยงต่อการเกิดโรคฉี่หนูได้ ซึ่งเชื้อโรคฉี่หนูนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล ตามรอยถลอก รวมถึงไชเข้าผิวหนังของผู้ที่แช่น้ำเป็นเวลานานๆ
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียรผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคเลปโตสไปโรซีสของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 17 สิงหาคม2562 พบว่า มีรายงานผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซีสสะสมรวม 1,219 ราย มีผู้เสียชีวิต 16 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 45 – 54 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 35-44 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ เกษตรกร รองลงมา คืออาชีพรับจ้าง การกระจายการเกิดโรคเลปโตสไปโรซีสรายภาค พบว่า ภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับสถานการณ์ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์) พบรายงานผู้ป่วย 129 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
นายแพทย์ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่มีชื่อว่า เลปโตสไปร่า (Leptospira) ชอบอาศัยอยู่ในไตและกระเพาะปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู โค กระบือ สุกร สุนัข แพะ แกะ โดยมีหนูเป็นสัตว์แพร่โรคที่สำคัญ เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืช ผัก เชื้อจะสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำเป็นเวลานาน คนมักติดเชื้อจากการย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วมขังหรือว่ายน้ำ หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้ออาจเข้าร่างกายโดยการกินอาหารหรือน้ำ กลุ่มเสี่ยงคือเกษตรกร ผู้ทำงานขุดลอกคูคลอง ผู้สัมผัสดินโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน
ดังนั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคไข้ฉี่หนูประชาชนควรป้องกันตนเองโดย ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของตน (โดยเฉพาะในเขตชนบท) สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อน แหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโรค ที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยมีคำแนะนำดังนี้ 1.ในชุมชนควรให้ความร่วมมือในการป้องกันการเกิดน้ำท่วมขัง ปรับสภาพแวดล้อมให้สะอาดไม่เป็นแหล่งพักพิงของหนู 2.ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน รวมถึงเก็บหรือปกปิดอาหารและน้ำดื่ม ภาชนะบรรจุอาหาร ช้อนส้อมให้มิดชิด หมั่นล้างมือภายหลังจับต้องเนื้อ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด 3.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน ที่ชื้นแฉะ หรือมีน้ำขังด้วยเท้าเปล่าหากมีบาดแผลที่เท้าหรือขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำสัมผัสกับแผล ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 4.หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ต้องสัมผัสน้ำหรือที่ชื้นแฉะแล้ว ควรรีบอาบน้ำชำระร่างกาย ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทันที ทั้งนี้หากมีประวัติเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลน และมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบ เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว หากทิ้งไว้นานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422