ฮู แนะขับ จยย. เขตเมืองห้ามขับเกิน 50 กม./ชม.

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ฮู แนะขับ จยย. เขตเมืองห้ามขับเกิน 50 กม./ชม. thaihealth


แฟ้มภาพ


ฮู แนะขับ จยย. ใช้ความเร็วถนนเขตเมืองไม่เกิน 50 กม.ต่อชม. ด้านขนส่งฯ มีแผนติดระบบเบรกล็อก คาดใช้ปี 63 ออกใบขับขี่ให้นักเรียน 21,900 คน ใน มี.ค.62 ส่วนสมาคมผู้ประกอบการฯ เพิ่มความรู้ใช้เบรกถูกต้อง


ดร.ลีวีอู เวดราสโก ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก(ฮู)หรือ(WHO)ประจำประเทศไทย เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง สองล้อปลอดภัย ลดเจ็บ-ตายเพื่อเด็กไทยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุมาจากไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ ขับเร็วและใช้ยานพาหนะร่วมกันบนถนนแบบ ไม่มีช่องจราจรเฉพาะ ออกแบบโครงสร้างถนนและอุปกรณ์เสริมด้านความปลอดภัยของยานพาหนะ ส่วนมาตรการมาช่วยเสริมความปลอดภัย ได้แก่ 1.ถนน พบว่าประสบความสำเร็จคือกำหนดให้มีเลนเฉพาะ จยย.รวมทั้งออกแบบถนนที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เช่น ไต้หวันมีการใช้ จยย.จำนวนมาก แต่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตจาก จยย.น้อยมาก เพราะออกแบบถนนให้มีเลนเฉพาะ.จยย. 2.รถ การติดตั้งมีระบบป้องกันเบรกล็อก(ABS)รถ จยย.จะช่วยลดอุบัติเหตุได้รวมทั้งสเปกล้อยาง แม้เป็นรถรุ่นเดียวกัน ยางหน้าไทยแคบหน้าแคบกว่ารถรุ่นเดียวกันในประเทศอื่นซึ่งมีผลการทรงตัวของรถ


ดร.ลีวีอู กล่าวต่อว่า 3.คน พบว่าไทยมีกฎหมายที่ดีเกี่ยวกับสวมหมวกนิรภัย แต่ยังมีช่องว่างอยู่ เช่น ใน100คน จะสวมใส่แค่52คน รวมทั้งบทลงโทษมาบั้งคับใช้ต้องจริงจัง เช่น ประเทศอิตาลี ถ้าไม่สวมหมวกนิรภัยจะถูกยึดรถ จยย.ทันที ต้องกำหนดมาตรฐานหมวกนิรภัยของเด็กให้ชัดเจน ตลอดจนต้องกำหนดความเร็วในเขตเมือง ซึ่งมาตรฐานนานาชาติตั้งไว้ไม่เกิน50กม.ต่อชม.แต่ไทยยังทำไม่ได้เท่าที่ควร ใช้ได้บางจังหวัดเท่านั้นยังไม่ทั่วประเทศ ดังนั้นต้องกำหนดให้ลดความเร็วในถนนเขตเมืองไม่เกิน50กม.ต่อชม.โดยใช้เฉพาะบางถนนเท่านั้น นำเครื่องมือที่มีอยู่มาบริหารจัดการ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนและลดแออัดจราจรทั้งนี้น่าเป็นห่วงการผ่าไฟแดงตามสี่แยกใหญ่ยังไม่บังคับใช้จริงจัง แม้จะมีตำรวจควบคุมอยู่ตรงนั้น และ 4.ความช่วยเหลือหลังเกิดเหตุต้องรวดเร็ว


ด้านนางสุภา โชติงาม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)กล่าวว่า ขบ.ได้ดำเนินการมาตรฐานตัวรถ จยย.ให้เข้าสู่สากลมากสุด ตอนนี้มีแผนให้รถ จยย.ติดตั้งระบบ ABSคาดว่าเริ่มในปี63ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อม เพราะการปรับเปลี่ยนมีต้นทุนที่สูงขึ้นและต้องแจ้งผู้ประกอบการล่วงหน้าอย่างน้อย2ปี หากนำมาบังคับใช้ ขณะเดียวกันผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนร่วมกันพบว่า ผู้ขับขี่ จยย.ไฟไม่สว่าง ต้นปี62ขบ.จะกำหนดแผ่นสะท้อนแสงที่ตัวรถ จยย.เพิ่มมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย


นางสุภา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ปัจจุบัน ขบ.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ประกอบการจำหน่ายรถต่างๆ จัดโครงการนักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่ต้องใส่ใจใบขับขี่ โดยเข้าไปอบรมให้ความรู้กับนักเรียนที่อยู่โรงเรียนมัธยมตอนปลาย สถานศึกษาอาชีวะ และอุดมศึกษาทั่วประเทศเกี่ยวกับใบขับขี่ ทั้งการอบรม5ชม.และสอบภาคปฏิบัติ หากผ่านจะออกใบขับขี่ให้ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการอบรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า15ปี แบ่งการจัดอบรมทั้งหมด438รุ่น รุ่นละ50คน รวมทั้งหมด21,900คน เริ่มต้นปี62-มี.ค.62ตลอดจนรณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยต่อไป อย่างไรก็ตามหากมองแก้ไขกฎหมาอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ควบคู่ด้วย


ส่วนนายวินัย กิจโชค ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมผู้ประกอบการรถ จยย.ไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีผู้ประกอบการผลิตรถ จยย.จากญี่ปุ่น4ยี่ห้อได้แก่ ฮอนด้า ยามาฮ่า คาวาซากิ และซูซูกิ ปัจจุบันยังไม่ติดตั้งระบบABSสำหรับ จยย.เพราะมองว่ายังไม่มีความจำเป็น และไม่มีการบังคับใช้ ขณะเดียวกันมีบางยี่ห้อเริ่มติดตั้งABSแล้ว อย่างไรก็ตามอยู่ระหว่างศึกษานำABSมาใช้กับมาตรการผลกระทบต่อผู้บริโภค และความจำเป็นรถ จยย.ที่มีเครื่องยนต์ต่ำต้องติดตั้งABSหรือไม่เพราะรถทุกประเภทขึ้นอยู่ที่วิธีการใช้เบรก ถ้าเบรกไม่ถูกต้องทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานเบรกไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นการเบรกจำเป็นต้องเรียนรู้ถูกต้องด้วยถึงจะหยุดรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นายวินัย กล่าวต่อว่า อนาคตรถ จยย.จะติดฉลากระบุความแรงเครื่องยนต์รถในแต่ละรุ่นด้วย อุบัติเหตุไม่ได้อยู่ที่ตัวรถอย่างเดียวแต่อยู่กับผู้ขับขี่ด้วย เพราะอุบัติเหตุมักเกิดกับพฤติกรรมผู้ขับขี่เป็นหลัก ทักษะการเรียนรู้เรื่องขับขี่ปลอดภัยจำเป็น เช่น การเบรก การควบคุมคันเร่ง เข้าโค้ง และการแซงให้ปลอดภัย เพราะผู้ขับขี่ จยย.หลายคนเป็นเพราะครอบครัวและเพื่อนสอน แต่จริงแล้วศาสตร์การขี่ จยย.ลึกซึ้งต้องเรียนรู้ให้ปลอดภัยได้

Shares:
QR Code :
QR Code