‘ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข’ จัดมหกรรมตามรอยพ่อ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
อีสานมีดีจัดมหกรรมตามรอยพ่อ โชว์ 17 หมู่บ้านน่าอยู่ ผ่านการทำงานในรูปแบบ “สภาผู้นำชุมชน” ต้นแบบเกษตรปลอดสาร ประหยัดต้นทุนสารเคมีถึง 18.2 ล้าน และการจัดการขยะชุมชน เปิดพื้นที่บ้านดงจงอาจ อดีตแชมป์จังหวัดเยาวชนท้องไม่พร้อมให้เหลือศูนย์
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข” ปี 3 เพื่อนำเสนอผลสำเร็จของการทำงานร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ โดยในปี 2560 ได้คัดเลือก 17 ชุมชนในภาคอีสานที่โดดเด่นในการแก้ไขในชุมชน ทั้งเรื่องการจัดการขยะ ลดเหล้า ลดสารเคมีทางการเกษตร ปัญหาเด็กเยาวชน กลไกสภาผู้นำชุมชน นำเสนอผ่านนิทรรศการและงานเสวนา เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ โดยมีชุมชนใหม่ 128 แห่ง ที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนการทำงาน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ความพออยู่ พอกิน ถือเป็นหนึ่งในหลักการทรงงานของรัชกาลที่ 9 ด้วยการให้ประชาชนสามารถอยู่อย่างพออยู่พอกินก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งถือเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งที่ต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาคนให้รู้จักปัญหาของตนเองและชุมชน และเชื่อว่าตนจะพึ่งตัวเองได้ โดยเริ่มจากการค้นพบศักยภาพของตนเอง พัฒนาตนเองจากทุนเดิมที่มีอยู่ ตลอดจนมีการเชื่อมโยง และประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่จนเกิดชุมชนพึ่งตนเองได้
ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า โครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันของภาคอีสานได้เกิดการขยายเครือข่ายคลอบคลุมพื้นที่ จำนวน 464 หมู่บ้าน 630 โครงการ ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงประเด็นที่ประสบผลสำเร็จอย่าง ชุมชนน่าอยู่ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อแสดงตำแหน่งครัวเรือนที่ปลูกผัก ลดการใช้สารเคมีในการทำนา ลดต้นทุนทางการเกษตร รวมถึงมาตรการลดหมอกควันจากการเผาฟางข้าวและซังข้าวโพด ชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น หมู่บ้านลดละเลิกเหล้าในงานบุญประเพณี ร้านค้าบุหรี่ประกาศเป็นร้านค้าสีขาว รถเร่เลิกเหล้า กลยุทธ์ในการเข้าถึงพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์ของชุมชน ทำให้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในชุมชนมีแนวโน้มลดลง
นางอวยพร พิศเพ็ง หัวหน้าชุดสนับสนุนวิชาการภาคอีสาน กล่าวว่า กลไกที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาชุมชนให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนคือการสนับสนุนให้เกิดสภาผู้นำชุมชน ที่เป็นตัวแทนคนในชุมชน ทั้งเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำทางการ อสม. กลุ่มสตรี ให้เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา หาแนวทางที่จะนำสู่การอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชน ผ่านลงมติสร้างกติกาครัวเรือนน่าอยู่แล้วถือปฏิบัติร่วมกัน จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้เกิดผลลัพธ์ในการแก้ปัญหารวมถึงทางออกให้กับชุมชน ได้แก่ ประเด็นเกษตรอินทรีย์ลดใช้สารเคมี มี 157 ชุมชน ที่ทำโครงการนี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ได้จำนวน 18.2 ล้านบาท ประเด็นเหล้าและงานศพปลอดเหล้า เกิดกติกาในชุมชนและกติการ้านค้าในชุมชน 90 แห่ง โดยเกิดบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า งานบุญประเพณีปลอดเหล้า และสามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่าเหล้าในงานประเพณีเฉลี่ยงานละ 16,500 บาท
นางอวยพร กล่าวว่า ในการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม จำนวน 182 ชุมชน สิ่งสำคัญคือการเกิดสภาผู้นำชุมชน ที่มีกติกาข้อบังคับการทิ้งขยะในชุมชน และลงลึกถึงระดับครัวเรือนคัดแยกขยะ 18,323 ครัวเรือน และสามารถลดปริมาณขยะลดลงเฉลี่ย 350,827 กิโลกรัมต่อเดือน นอกจากนี้ยังเกิดการสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งมีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่โดดเด่นที่บ้านดงจงอาง จ.ยโสธร โดยใช้กลไกสภาผู้นำชุมชนสู่การก่อตัวของสภาเยาวชนและหมอวัยรุ่น ทำให้สามารถเปลี่ยนแชมป์ท้องก่อนวัยอันควรของจ.ยโสธร จนในปีนี้ไม่มีเด็กท้องและยังสามารถแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของเยาวชนได้อีกด้วย