อุบัติเหตุบนท้องถนน เรื่องร้ายที่เริ่มแก้ได้ที่ตัวเรา

อุบัติเหตุบนท้องถนน เรื่องร้ายที่เริ่มแก้ได้ที่ตัวเรา

ในปี 2561 มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 20,169 ราย หรือประมาณ 55 รายต่อวัน จนองค์การอนามัยโลกยกให้ประเทศไทยเป็นแชมป์ประเทศที่มีประชากรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้อุบัติเหตุทางท้องถนนยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และเหนือสิ่งอื่นใดคือการทำลายทรัพยากรมนุษย์อันประเมินค่าไม่ได้
 ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องแบบนี้อีกแล้ว
          อุทาหรณ์ชีวิตพลิกผันในเสี้ยววินาที
          จากว่าที่นางงามกลายเป็นคนพิการ 

นางสาวศรีไพร อุปะนม เป็นหญิงสาวที่เคยมีชีวิตสดใส มีโอกาสอยู่ในสังกัดนางงามของคุณป้าชุลี ใจยงค์ แต่เพียงเสี้ยววินาทีของการตัดสินใจซ้อนมอเตอร์ไซด์ที่คนขับเมา แล้วประสบอุบัติเหตุ ส่งผลให้เป็นอัมพาตตั้งแต่หน้าอกถึงเท้า สูญเสียระบบขับถ่าย ต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต พี่สาวต้องออกจากงานมาคอยดูแล ส่วนพ่อแม่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดู ชีวิตหดหู่ ถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่เคราะห์ดีมีคนช่วยไว้ได้

อุบัติเหตุบนท้องถนน เรื่องร้ายที่เริ่มแก้ได้ที่ตัวเรา

  หยุดความสูญเสียได้ เริ่มที่ตัวเราก่อน
ในความเป็นจริง เราสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ เนื่องจากต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้ ความประมาท หรือความไม่ใส่ใจ ดังนั้นการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจึงสามารถเริ่มต้นได้จากตัวเราเอง ด้วยการทำสิ่งเหล่านี้
1. ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด  เพราะการขับขี่ด้วยความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนดคือมากกว่า 80 กม./ชม.ในเขตเมืองและเขตเทศบาล จะมีโทษปรับตามกฎหมาย  นอกจากนี้การขับด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. ถ้าเกิดการชนจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการชนกันที่ความเร็ว 40 กม./ชม. ถึง 15เท่า
2. ดื่มไม่ขับ เพราะการดื่มแล้วขับเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 6.6 เท่า และเพิ่มโอกาสเสียชีวิต 9.6 เท่า แต่ที่สำคัญหากดื่มแล้วขับจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต จะมีโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท และโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
3. งดใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับขี่  เพราะการส่งข้อความขณะขับขี่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงมากกว่าผู้ขับขี่ที่ไม่ต้องเสียสมาธิถึง 20 เท่า นอกจากนี้ยังมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 157 มีโทษปรับ 400 – 1,000 บาท
4. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกคนทุกครั้ง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ นอกจากคนนั่งหน้าจะเสี่ยงได้รับบาดเจ็บแล้ว หากคนนั่งหลังไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็มีโอกาสบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเช่นกัน ดังนั้นทางที่ดีสุด คือการคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะจะช่วยลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 40-60
5. สวมหมวกนิรภัย ไม่ว่าเดินทางใกล้หรือไกล จากการสำรวจตั้งแต่ปี 2553-2561 พบว่า อัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะเมื่อเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นทุกปี โดยมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 55 โดยในจำนวนนี้กว่า 90% ไม่สวมหมวกนิรภัย และการสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 43% สำหรับคนขับขี่
เชื่อไหม ทุกคนมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น 
ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในสังคมคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
 ด่านครอบครัว
1. บุคคลในครอบครัว แสดงความห่วงใยคนในครอบครัว ว่ากล่าวตักเตือน โน้มน้าว และควบคุมไม่ให้คนในบ้าน มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้รถใช้ถนน
2. กรรมการหมู่บ้าน คอยสอดส่อง ดูแลช่วยเหลือครอบครัวที่มีประสบปัญหาคนในครอบครัวมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้รถใช้ถนน
  ด่านชุมชน
เป็นการร่วมมือในระดับชุมชนโดยอาศัยกลไกในพื้นที่ในการแก้ปัญหา  ได้แก่ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาออกสำรวจพื้นที่และทำแผนที่จุดเสี่ยงภายในชุมชน จากนั้นช่วยกันทำป้ายและสัญญาณไฟเตือนตามจุดนั้น ๆ ขณะเดียวกันชุมชนช่วยกันสื่อสารเนื้อหาในการช่วยป้องกันอุบัติเหตุ  ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นการย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง
  ด่านองค์กร  
หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ด้วยการกำหนดมาตรการ หรือกฎระเบียบในการดูแลบุคลากรในองค์กรที่ใช้ยานพาหนะทุกประเภทเพื่อสัญจรบนถนน สะพาน ทางเท้า ขอบทาง ให้พ้นจากอันตราย เช่น กำหนดให้ทุกคนต้องสวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัด ไม่ดื่มแอลกอฮอล์  กำหนดให้มีการตรวจบริเวณทางเข้าออก รวมถึงกำหนดบทลงโทษภายในองค์กร เป็นต้น
    ทุก ๆ คนร่วมมือ
สุดท้ายทุกคนมีส่วนช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้  โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ต่าง ๆ ที่หน่วยงานทางสังคมได้จัดตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์เมาไม่ขับ ร่วมกันติดกล้องหน้ารถ อย่าลืมสวมหมวกนิรภัยให้เด็ก ช่วยกันจอดรถให้คนข้ามถนน หรือ โครงการ No drink I drive เป็นต้น
หากสนใจอยากได้ข้อมูลการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนเพิ่มเติม อ่านต่อได้ที่นี่ http://www.roadsafetythai.org/

Shares:
QR Code :
QR Code