อุดรธานี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แม่วัยรุ่น

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


ภาพประกอบจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


อุดรธานี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แม่วัยรุ่น thaihealth


จ.อุดรธานี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น


เมื่อเร็วๆนี้  ที่ห้องฟ้าหลวง 1,2 โรงแรมนภาลัย อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญพืช ปลัดจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ สานพลังภาคีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2560 โดยมีคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด, ระดับอำเภอ, ระดับตำบล, และภาคีเครือข่ายร่วมกิจกรรมรวม 200 คน


นางเพ็ญศิริ ศรีจันทร์ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี เป็นตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกำหนดให้การลดอัตราคลอดในวัยรุ่น 10 – 14 ปี และ 15 – 19 ปี เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดในการบรรลุเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาพที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยที่ทุกประเทศต้องการบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติพ.ศ.2560-69 ประเทศไทยพบอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 95,000 คน ในปี พ.ศ. 2546 และเพิ่มเป็น 104,300 คน ในปี 2558 และคลอดในอายุต่ำกว่า 15 ปีๆละ 3,000 คน และยังคลอดบุตรซ้ำครั้งที่สองขึ้นไปมากถึง 12,700 คน หรือเท่ากับร้อยละ 12.2 ผลกระทบทางสุขภาพจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีตั้งแต่เสียชีวิตของมารดาและทารก เด็กแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เสี่ยงต่อการทำแท้งไม่ปลอดภัยอันตรายต่อชีวิต เสียโอกาสทางการศึกษา หน้าที่การงาน การขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่นำร่องโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศจังหวัดอุดรธานี ปี 2556 – 2558 โดยให้พัฒนานวัตกรรมการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยของวัยรุ่นใน 5 ด้าน ได้แก่ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม, การติดเชื้อHIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ผลกระทบจากการทำแท้ง และการกระทำความรุนแรงทางเพศจนพัฒนาเป็น “อุดรโมเดล” ใน 5 ยุทธศาสตร์ก่อนจะมีพระราชบัญญัติ และสนับสนุนให้จังหวัดอุดรธานี พัฒนาการทำงานขับเคลื่อนแบบบูรณาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยเน้นพัฒนากลไกขับเคลื่อนบูรณาการ 5 กระทรวงหลักระดับจังหวัดและขับเคลื่อนผ่านระบบการจัดการสุขภาพระดับอำเภอ ในปีงบประมาณ 2560 – 2561 โดยดำเนินการมาแล้ว 1 ปี มีการถอดบทเรียน และจัดกิจกรรมประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการถอดบทเรียนวันนี้

Shares:
QR Code :
QR Code