ระยะนี้ยังเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายฝนต้นหนาว ที่บรรดาโรคภัยต่างๆ มักจะออกมาแพร่กระจายในช่วงนี้ นอกจาก 6 โรคร้ายที่ สธ.ประกาศเตือนแล้ว ยังมีอีกโรคหนึ่งที่ครอบครัวที่มีเด็กเล็กควรระมัดระวังด้วยเช่นกันคือ โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ถึงแม้จะพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่อากาศเย็น หรือช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี
เชื้อไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายมาก ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโรต้ามักมีอายุอยู่ในช่วง 3 เดือน-3 ปี และพบสูงสุดในเด็กอายุ 6-12 เดือน ร้อยละ 2.5 ของผู้ป่วยเด็กจะมีอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ไวรัสโรต้าสามารถตรวจพบในอุจจาระของผู้ป่วยได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มอาการถ่ายเหลว และเชื้อไวรัสอาจคงอยู่ได้นานถึง 21 วันหลังจากมีอาการ
สังเกตอาการ
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกาย เชื้อมีระยะฟักตัว 2-4 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไข้สูง และมีอาการของหวัดนำมา อาเจียนใน 2-3 วันแรกก่อนมีอาการอุจจาระเป็นน้ำอยู่นานประมาณ 3-8 วัน ผู้ป่วยรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะขาดน้ำถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้ นอกจากนี้อาจมีสารเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติและภาวะพร่องแลคเตสร่วมด้วย
การรักษา
ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่
– ถ้ามีไข้ ควรให้ยาลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ
– การให้สารน้ำโดยการรับประทานหรือการให้ทางเส้นเลือด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขภาวะขาดน้ำ
– ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน จะพิจารณาให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน หากมีภาวะพร่องแลคเตสจะพิจารณาเปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีแลคโตส
– ให้ผู้ป่วยรับประทานทานอาหารอ่อน รสไม่จัด ควรให้อาหารและน้ำทีละน้อยๆ แต่ให้บ่อยๆ
– นอนพักผ่อน
การป้องกันโรค
1. รักษาสุขอนามัย
เป็นการป้องกันที่สำคัญที่สุดผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วยต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ แนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
กรณีที่เป็นทารกและเด็กเล็ก แนะนำการให้นมมารดา เนื่องจากในน้ำนมมารดามีสารภูมิต้านทานที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคอุจจาระร่วง แต่ในรายที่ใช้นมผสมและขวดนม ควรชงนมในปริมาณที่พอดีต่อการให้นมแต่ละครั้ง ทำความสะอาดขวดนมให้สะอาดและนำไปต้มหรือนึ่งทุกครั้งก่อนการนำมาใช้ใหม่
2. วัคซีน
ปัจจุบันนี้ได้มีการผลิตวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า โดยเริ่มผลิตครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีก่อน แม้มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค แต่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ได้แก่ การเกิดโรคลำไส้กลืนกัน จึงมีการระงับการใช้ ต่อมาได้พัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งวัคซีนรุ่นใหม่นี้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัย
วัคซีนโรต้าใช้รับประทานในเด็กเล็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ 2-3 ครั้งแล้วแต่ชนิดของวัคซีน แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ควรให้แล้วเสร็จก่อนอายุ 6 หรือ 8 เดือนขึ้นกับชนิดของวัคซีน อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ้าง คือ ไข้ ถ่ายเหลว และอาเจียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ