อีสานตอนล่างขับเคลื่อนชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษา
จ.สุรินทร์ จับมือ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง แถลงขับเคลื่อนสร้างพลังชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าครบพรรษา ปี 2558
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงเรียนศรีสำเภาลูน ต.สำเภาลูน อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง ร่วมกับ จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย พระครูโบฎิกา วันชัยญาณวโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสะเดาเขาศาลา , นายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอบัวเชด , นายเพทาย สดทรงศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ , นายศิวเทพ วรรณทอง สาธารณสุขอำเภอบัวเชด , พ.ต.ท.ชยกร นพกุลจิรา สารวัตรใหญ่ สภ.สะเดา อ.บัวเชด และนายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง ร่วมแถลงข่าวการขับเคลื่อนกลยุทธ์และยกระดับการทำงานสู่ "ชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา" พุ่งเป้าที่จะสร้างกระบวนการเสริมสร้างพลังในการขยายผลการงดเหล้าของประชากรในพื้นที่ สสส. และเครือข่ายงดเหล้า
ซึ่งจัดเวทีนำตัวแทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้าในภาคอีสานตอนล่าง เข้าเรียนรู้ดูงาน กระบวนการเพื่อการสร้างเสริมพื้นที่ชุมชนรูปธรรม วางมาตรการชุมชนพร้อมทั้งประสานนโยบายเพื่อขับเคลื่อนโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา หวังชี้ชวนให้ประชาชน ลูกหลานในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมที่ดีงาม การจัดสภาวะที่เหมาะสมต่อการป้องกันปัญหา ตลอดจนลดความเสี่ยงต่างๆ ให้พ้นจากภัยน้ำเมาอย่างยั่งยืน ในช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ประชาคมและเครือข่าย 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง มีการเสนอกลยุทธ์และยกระดับการทำงานสู่ชุมชนคนสู้เหล้างดเหล้าเข้าพรรษา โดยมีเป้าหมายการทำงานอยู่ที่การประสานงานระดับอำเภอ ระดับจังหวัด อย่างโครงการหมู่บ้านศิลห้า ที่รัฐบาลรณรงค์ส่งเสริมให้ดำเนินการ และการชี้ชวนปรับเปลี่ยนคนในพื้นที่มีการพฤติกรรมและค่านิยมในการดื่มเหล้า ให้มีการงดเหล้าจนครบพรรษารวมทั้งการยกระดับการทำงานให้เกิดชุมชนรูปธรรมงดเหล้าเข้าพรรษาทั้ง 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง
สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชุมชนรูปธรรม งดเหล้าเข้าพรรษาและแนวทางการขับเคลื่อนงานในปี 2558 โดยได้มีแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันในเรื่องการประสานเชิงนโยบายในระดับอำเภอและระดับจังหวัดการขับเคลื่อนชุมชนรูปธรรมอย่างน้อยจังหวัดละ 5 ชุมชน จะมีการดำเนินกิจกรรมชุมชนเข้มแข็งเข้มข้น 1 ชุมชน เน้นที่กระบวนการ ช่วย ชม เชียร์ ให้คนในชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษา อีกทั้งยังมีการค้นหาบุคคลต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจในการลดเหล้าครบพรรษาตลอด 3 เดือนในปี 2558 การเตรียมข้อมูลจำนวนชุมชนผู้เข้าร่วมทั้ง 8 จังหวัด ทั้งหมด19 อำเภอ 28 ตำบล 92 ชุมชน และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมลงนามงดเหล้าเข้าพรรษาไม่ต่ำกว่า 4,000 คน
ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดสะท้อนข้อมูลของการงดเหล้าครบพรรษาในปี 2557 ที่ผ่านมาของ 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ว่ามี 4 จังหวัด จำนวน 11 อำเภอผลักดันให้มีนโยบายระดับอำเภอชวนคนงดเหล้าครบพรรษา พื้นที่รูปธรรมอย่างน้อย 40 ชุมชน และมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 6,519 คน เกิดคนต้นแบบแรงบันดาลใจ 80 คน และร้อยละ 60 สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของตนเอง ระดมความร่วมมือเจ้าภาพในจังหวัดชวนคนงดเหล้าครบพรรษา มีเครือข่ายร่วมงาน 87 เครือข่ายใน 8 จังหวัด ซึ่งบทเรียนและข้อค้นพบที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ชุมชนโดยรอบของโรงเรียนสำศรีสำเภาลูนแห่งนี้ จึงเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่สูง ในอันที่จะดำเนินงานขับเคลื่อนกระบวนการงดเหล้า หรือแม้กระทั่งชุมชนห่างไกลยาเสพติด จนได้รับเป็นโรงเรียน To Be Number One อันดับต้นๆ และมีกิจกรรมดีเด่นในระดับประเทศมาแล้ว
นอกจากนี้ การนำเครือข่ายทั้ง 8 จังหวัดอีสานตอนล่างลงมาดูงานการขับเคลื่อนกระบวนการในพื้นที่ ทั้งการพัฒนาคนสร้างงานสู่ตำบลลดปัจจัยเสี่ยง , กิจกรรมเยาวชน To Be Number One , การให้กำลังใจสร้างพลังคนและครัวเรือนต้นแบบ และร้านค้าสะดวกยิ้มที่มีความซื่อสัตย์ในการจัดการของกฎระเบียบข้อกฎหมายในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เวลาจำหน่าย อายุที่สามารถจำหน่ายให้ได้ การงดการแบ่งขายที่จะเป็นผลการส่งเสริมการบริโภค เป็นต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างความสามัคคีของชุมชนด้วย การร่วมกันจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการลดปัจจัยเสี่ยงในช่วงเข้าพรรษา การสนับสนุนของเยาวชน ในการนี้สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษาประจำปี 2558 เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์และกำหนดทิศทางในการดำเนินงานงดเหล้าเข้าพรรษาต่อไป
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์