อาหารเส้นใยผลไม้ ชี้มีคุณค่าสูง ป้องกันมะเร็ง
วว.วิจัยเส้นใยอาหารจากผลไม้ไทย นำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ ค้นพบมะม่วงกับทุเรียนมีปริมาณใยอาหารสูง เผยที่ผ่านมาไทยยังต้องนำเข้าไฟเบอร์ปีละ 1,500 ล้านบาท ไม่เคยผลิตขายเองแม้จะมีฐานทรัพยากรการเกษตรจำนวนมากก็ตาม ระบุคุณประโยชน์กินใยอาหารช่วยขับถ่ายดีและป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงผลสำเร็จในการวิจัยและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย มีปริมาณใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ให้พลังงานน้อย ไขมันต่ำ ช่วยขับถ่ายอุจจาระ ป้องกันท้องผูก ริดสีดวงทวารหนัก และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. เปิดเผยว่า ใยอาหารหรือไฟเบอร์มีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านการขับถ่ายอุจจาระ แต่เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องนำเข้าใยอาหารจากต่างประเทศ มีมูลค่าสูงถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี จากตัวเลขของกรมศุลกากร และยังเป็นสินค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารจำหน่ายส่งออกทั่วโลก แต่กลับไม่มีผู้ผลิตใยอาหารในเชิงพาณิชย์ภายในประเทศไทย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมีศักยภาพในการแข่งขันด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในตลาดโลก
นางเกษมศรีกล่าวว่า เมื่อพิจารณาพื้นฐานของประเทศที่มีจุดแข็งด้านทรัพยากรการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะนำทรัพยากรที่มีมากเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตใยอาหาร ที่สามารถใช้สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ โครงการวิจัยนี้จึงเกิดขึ้นและช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใยอาหารจากอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลไม้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี และยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
“ผลิตภัณฑ์ใยอาหารจากผลไม้มีจุดเด่น คือ มีปริมาณใยอาหารสูง ให้พลังงานน้อย ไขมันต่ำ มีสัดส่วนที่เหมาะสมของใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งช่วยการขับถ่ายอุจจาระ ขับถ่ายสารพิษ และสารก่อมะเร็ง ป้องกันท้องผูกและริดสีดวงทวารหนัก และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ และใยอาหารที่ละลายน้ำซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอล คงระดับน้ำตาลในเลือด เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ตามธรรมชาติ เพื่อผลิตกรดไขมันสายสั้นที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่และตับ” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีความสามารถในการดูดซับน้ำและน้ำมันแล้วขับถ่ายออกมาได้ดี ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระและกำจัดไขมันออกจากร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับระบบทางเดินอาหาร และผ่านการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง จึงมีความปลอดภัยในการบริโภค
ด้านนางโศรดา วัลภา นักวิชาการฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกายเราต้องการใยอาหารไม่ต่ำกว่าวันละ 25 กรัม ทุกวันนี้มีผู้นำเข้าใยอาหารเพื่อมาเติมลงในผลิตภัณฑ์หรืออาหารต่างๆ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบเพื่อผลิตใยอาหารเองได้ จากการวิจัยผลไม้หลายชนิด เช่น มะม่วง ทุเรียน เงาะ ลำใย สับปะรด ลิ้นจี่และกระท้อน ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ โดยพบว่ามะม่วงและทุเรียนมีปริมาณใยอาหารสูงมาก จึงนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายประเภท เช่น เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยวและเนื้อสัตว์ เป็นต้น
“ปริมาณใยอาหารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จะแตกต่างกันไป เช่น ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและลูกชิ้นสามารถใช้ได้ในปริมาณ 3-7% ผลิตภัณฑ์ขนมปังแซนด์วิชสามารถใช้ใยอาหารได้ในระดับที่สามารถจัดว่าเป็นขนมปังที่มีใยอาหารสูงถึง 20% ขนมปังขาไก่สามารถเติมใยอาหารในระดับ 10-19% โดยไม่ทำให้เสียรสชาติผลิตภัณฑ์เดิมที่ไม่ได้เติมใยอาหาร” นางโศรดากล่าว และว่า จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถดูดซับน้ำและน้ำมันที่ปนมากับอาหาร เพื่อให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดีกว่าเดิมเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า ขณะนี้พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตใยอาหารเชิงพาณิชย์ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ หากสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2577-9300, 0-2577-9000.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์