อาหารการกิน…เรื่องจริงหรือไม่
เรื่องโดย : พัชรี บอนคำ team content www.thaihealth.or.th
ที่มา : คู่มือส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิต สำหรับเด็กและเยาวชน เรื่อง Food & Fit สร้างชีวิตให้ Strong
ในยุคที่เรารับข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ง่ายบางครั้งหลงลืมเช็คที่มาที่ไปของข้อมูล หรือเขาว่ากันว่าต่อๆ กันมา และยิ่งโดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการดูแลสุขภาพ คนมักจะแชร์กันมาแบบผิดๆ แถมมีการส่งต่อไปเป็นวงกว้าง สร้างความเชื่อที่ผิดไม่รู้จบ วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงชวนทุกคนมาหาคำตอบไขข้อข้องใจกับ 20 คำถาม ที่เกี่ยวกับอาหารการกิน ว่าแท้จริงแล้วข้อมูลเหล่านั้นเป็นจริงหรือมั่ว
1. จริงหรือไม่? สัดส่วนบนจานอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ คือ ผัก 2 ส่วน ข้าวและเนื้อสัตว์อีกอย่างละส่วน
เฉลย “จริง” การเน้นกินผักหรือผลไม้ในมื้ออาหารและลดปริมาณเนื้อสัตว์และแป้งให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
2. จริงหรือไม่? การปรุงรสชาติเพิ่มในอาหารมีโทษต่อร่างกาย อันตรายถึงชีวิตได้
เฉลย “จริง” ควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสชาติเพิ่มในอาหาร เพราะในอาหารมีการปรุงรสชาติที่มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมมากอยู่แล้ว หากปรุงเพิ่มเท่ากับการเพิ่มปริมาณน้ำตาลและเกลือจนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ และโรคไต เป็นต้น
3. จริงหรือไม่? ไขมันดีมีอยู่จริงและยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและความจำเสื่อม
เฉลย “จริง” ไขมันดีมีชื่อย่อว่า HDL ทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งแรง ป้องกันไม่ให้คลอเลสเตอรอล ไตรกรีเซอไรด์และไขมันเลวสะสมในหลอดเลือดเเละช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้อีกด้วย พบในปลาและพืชบางชนิด เช่น แซลมอน ทูน่า ซาดีน ธัญพืช และถั่วต่างๆ
4. จริงหรือไม่? โดยทั่วไปอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปจะมีโซเดียมน้อยกว่าอาหารที่แปรรูปแล้ว
เฉลย “จริง” เพราะอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปจะมีปริมาณโซเดียมตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เรามักได้รับโซเดียมมากเกินโดยไม่รู้ตัวจากการทานอาหารที่มีการแปรรูปแล้ว
5. จริงหรือไม่? อาหารจานเดียวที่เรานิยมกินกันมักมีปริมาณโซเดียมสูงมาก
เฉลย “จริง” อาหารจานเดียวที่นิยมกินกันมีปริมาณโซเดียมที่สูงมาก หากเรากินอาหารประเภทนี้ครบ 3 มื้อต่อวัน เราจะได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า
6. จริงหรือไม่? เราควรกินมื้อเย็นมากกว่ามื้ออื่นๆ เพราะจะทำให้นอนหลับสบายและไม่รู้สึกหิวในตอนเช้า
เฉลย “ไม่จริง” ควรกินมื้อเย็นให้น้อยที่สุด เพราะหลังจากนี้ร่างกายต้องการพักผ่อนไม่ได้มีกิจกรรมที่สามารถเผาผลาญพลังงานได้ และควรกินมื้อเย็นก่อนนอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานได้อย่างเต็มที่
7. จริงหรือไม่? การดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำจะทำให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้
เฉลย “จริง” เพราะน้ำอัดลมมีส่วนประกอบของสารฟอสฟอรัส ทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง หากดื่มในปริมาณมากจะส่งผลให้เป็นโรคกระดูกพรุนหรือฟันผุได้
8. จริงหรือไม่? โยเกิร์ตทุกชนิดเป็นอาหารลดน้ำหนักได้ดีและมีปริมาณน้ำตาลน้อย
เฉลย “ไม่จริง” เพราะโยเกิร์ตบางชนิดนั้นมีน้ำตาลสูง ควรเลือกโยเกิร์ตธรรมชาติที่มีน้ำตาล 0% และเพิ่มผลไม้สด เช่น กล้วย สับปะรด เพื่อทำให้อิ่มท้องและได้รับวิตามินเพิ่มขึ้นอีกด้วย
9. จริงหรือไม่? การกินอาหารที่บรรจุในกล่องโฟมเป็นประจำอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้
เฉลย “จริง” เพราะกล่องโฟมทำมาจากพลาสติกชนิดหนึ่ง เมื่อได้รับความร้อนสารอันตรายที่เป็นส่วนผสมจะปนเปื้อนสู่อาหาร เมื่อสะสมในปริมาณมากจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้
10. จริงหรือไม่? เราสามารถสำรวจตัวเองว่าอ้วนลงพุงแล้วหรือยัง ด้วยการวัดเส้นรอบพุง = ส่วนสูงหาร 2
เฉลย “จริง” วิธีง่ายๆ ในการสำรวจตัวเองว่าลงพุงหรือไม่ แค่วัดเส้นรอบพุง (ผ่านสะดือ) ถ้าเกินส่วนสูงหารสอง แสดงว่าอยู่ในภาวะ “อ้วนลงพุง” แล้ว
11. จริงหรือไม่? คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ผิวพรรณจะดูขาวใสเปล่งปลั่งตามธรรมชาติ
เฉลย “จริง” การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เลือดลมภายในไหลเวียนดี ส่งผลให้ผิวพรรณภายนอกดูเปล่งปลั่งตามธรรมชาติ
12. จริงหรือไม่? หากกินอาหารอิ่มแล้วล้มตัวลงนอนทันทีจะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น
เฉลย “ไม่จริง” การนอนหลับจะเผาผลาญพลังงานได้น้อย เมื่อเทียบกับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอื่นๆ หากนอนทันทีจะเป็นการสะสมพลังงานทำให้อ้วนง่ายและทำให้เป็นโรคกดไหลย้อนได้
13. จริงหรือไม่? หากเราอยากผอมเราสามารถกินผลไม้แทนข้าวได้ทุกมื้ออาหาร
เฉลย “ไม่จริง” การกินผลไม้อย่างเดียวทำให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงานและสารอาหารที่ไม่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ควรเลือกกินให้ครบ 5 หมู่ในทุกมื้ออาหาร ลดของมัน ของทอด และเพิ่มการออกกำลังกาย
14. จริงหรือไม่? อาหารที่ให้พลังงานมักมีรสชาติหวาน มัน เค็ม
เฉลย “จริง” เพราะมันฝรั่งทอดกรอบ พิซซ่า แฮม เบค่อน ชีส ไก่ทอด ที่ให้พลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย มักมีรสชาติหวาน มันเค็ม เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลือสูงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้หรือบริโภคให้น้อยจะส่งผลดีต่อสุขภาพ
15. จริงหรือไม่? ผลไม้ทุกชนิดเหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วน โดยเฉพาะ มะม่วง ขนุน ทุเรียน ลำไย
เฉลย “ไม่จริง” เพราะมะม่วง ทุเรียน ลำไย เป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง หากกินมากจะเกิดการสะสมน้ำตาลในหลอดเลือด เกิดภาวะไขมันอุดตัน เป็นโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หรือยิ่งทำให้อ้วน
16. จริงหรือไม่? ควรกินขนมหวานทุกครั้งหลังมื้ออาหาร เพื่อช่วยให้กระเพาะทำงานได้ดีขึ้น
เฉลย “ไม่จริง” เพราะการกินของหวานจะยิ่งเพิ่มพลังงานให้กับอาหารมื้อนั้นมากขึ้น เท่ากับว่าเราต้องทำกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นเพื่อเผาผลาญด้วย
17. จริงหรือไม่? ควรดื่มน้ำเปล่าหลังกินอาหารอย่างน้อย 40 นาที
เฉลย “จริง” เพราะการดื่มน้ำหลังอาหารทันทีจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารเจือจางและย่อยอาหารได้ไม่เต็มที่
18. จริงหรือไม่? การดื่มน้ำบ่อยๆ ระหว่างกินอาหารจะทำให้เรากินอาหารได้น้อยลง
เฉลย “จริง” เพราะน้ำจะเข้าไปแทนที่อาหาร ทำให้เราอิ่มเร็ว ควรเปลี่ยนมาดื่มน้ำหลังมื้ออาหาร เพื่อให้อาหารย่อยและพร้อมลำเลียงสารอาหาร
19. จริงหรือไม่? เกลือแร่ มักพบในอาหารประเภทปลาตัวเล็ก กุ้ง ถั่วเมล็ดแห้ง งา ลูกเดือย
เฉลย “จริง” เกลือแร่มีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย พบมากในอาหารจำพวกกุ้ง ปลาตัวเล็ก ถั่วเมล็ดแห้ง งา ลูกเดือย กะปิ ผักใบเขียนต่างๆ เป็นต้น ช่วยสร้างกระดูก ฟัน และเลือด ช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นปกติ
20. จริงหรือไม่? วัยรุ่นควรกินผักให้น้อยกว่าวัยอื่นๆ เพราะร่างกายต้องการพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมากกว่า
เฉลย “ไม่จริง” ผักและผลไม้มีประโยชน์ต่อทุกวัย เพราะมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย
ร่างกายของเราเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการจะเลือกวิธีดูแลตนเองจะต้องพิถีพิถัน อาหารที่กินก็ต้องศึกษาและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เพราะหากดูแลตัวเองหรือกินอาหารที่ผิดๆ จะกลายเป็นให้โทษมากกว่าให้คุณได้
นอกจากบทความนี้แล้วหากใครสนใจอยากหาข้อมูลการดูแลตนเองเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.thaihealth.or.th นะคะ แล้วมาดูแลสุขภาพอย่าถูกวิธีไปพร้อมๆ กันค่ะ