อาหารกล่อง เก็บนานเสี่ยง ‘โรคอาหารเป็นพิษ’

อาหารกล่อง เก็บนานเสี่ยง ‘โรคอาหารเป็นพิษ’  thaihealth


สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา ให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารกล่องที่ทำแจกจ่ายในปริมาณมาก เช่น อาหารที่แจกจ่ายให้นักเรียนเข้าค่ายหรือทัศนศึกษา หากไม่บริโภคภายใน 4 ชั่วโมง อาหารอาจบูดเสียได้และก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยทั่วประเทศนับแสนราย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนที่คนนิยมนำอาหารมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วนำอาหารมารับประทานในภายหลัง


สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา ได้แจ้งทางจังหวัดสุรินทร์ให้เตือนประชาชนให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อาหารที่ใส่กล่องไม่ควรราดบนข้าวโดยตรง ควรแยกบรรจุกับข้าวในถุงพลาสติกต่างหาก ทั้งนี้ โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ คือ มีอาการของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้ง กระหายน้ำ และอาจมีไข้


ซึ่งในปีนี้กรมควบคุมโรค เน้นเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดกับนักเรียน ทั้งในโรงเรียนและกรณีนักเรียนเข้าค่ายและทัศนศึกษา เนื่องจากรับประทานอาหารกล่องที่ทำในปริมาณมาก ๆ เก็บไว้นาน ทำให้อาหารบูดเสียง่าย


ซึ่งอาหาร 10 เมนู ที่เสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ 1. ลาบและก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2. ยำกุ้งเต้น 3. ยำหอยแครง 4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5. อาหารและขนม ที่ราดด้วยกะทิสด 6. ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8. ส้มตำ 9. สลัดผัก 10. น้ำแข็งจังหวัดสุรินทร์จึงขอให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากมีอาการป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษ ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด เป็นต้น


ไม่งดอาหาร รวมทั้งนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิม แต่ปริมาณลดลงและให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร เมื่ออาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ใกล้บ้านทันที และไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น


 


 


ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code