อาหารกลางวัน 20 บาท กับ Thai School Lunch
ที่มา : คมชัดลึก
ภาพโดย สสส.
20 บาท กับ Thai School Lunch เพียงพอและมีคุณภาพ ทำได้อย่างไร?
งบประมาณที่จัดให้ 20 บาทนั้น เพียงพอสำหรับการจัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพได้ เพียงแต่ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่รับผิดชอบใช้เมนูอาหารกลางวันตาม Thai School Lunch ที่จัดขึ้นตามโครงการ เด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง มีการพัฒนาทางสมองและร่างกายอย่างสมวัย
"จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี" ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส กล่าวว่า งบประมาณที่จัดให้ 20 บาทนั้นเพียงพอสำหรับการจัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพได้ เพียงแต่ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่รับผิดชอบใช้เมนูอาหารกลางวันตาม Thai School Lunch ที่จัดขึ้น ตามโครงการเด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้า นักโภชนาการ ที่ต้องการให้เด็กไทยมีร่างกายสมบูรณ์ ดูแลเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงให้มีร่างกายที่แข็งแรง มีการพัฒนาทางสมองและร่างกายอย่างสมวัย รวมถึงให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดีทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน
ประยุกต์องค์ความรู้จากการดำเนินงานตามรอยพระบาทเจ้าฟ้านักโภชนาการตาม 8 แนวทางของโครงการ มีการวางแผนทำเมนูอาหารกลางวัน ปัจจุบันมีเว็บไซต์ไว้ให้โรงเรียนสามารถโหลดเมนูอาหารไปใช้ได้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับหลักโภชนาการที่ดี ความอ้วน เตี้ย และลักษณะโภชนาการที่ถูกต้องอื่น ๆ ด้วย โดยในโปรแกรมจะออกแบบไว้ว่า ถ้าจัดรายการอาหารได้ถูกต้อง ตามหลักโภชนาการจะมีสีเขียว ถ้าเป็นสีแดง=ขาด สีม่วง=เกิน ซึ่งสามารถปรับลดได้ตามขนาดความต้องการ และสามารถ จัดเมนูอาหารกลางวันได้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และทั้งภาคเรียน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละโรงเรียน
ทั้งนี้ ปริมาณอาหารมื้อกลางวันเด็ก 3 กลุ่มอายุกลุ่มอาหาร (ปริมาณ) ข้าว-แป้ง อายุ 3-5 ปี 1.5 ทัพพี, ป.1-3 (6-8 ปี) 2 ทัพพี, ป.4-6 (9-12 ปี) 2.5 ทัพพี และ ม.1-3 (13-15 ปี) 3 ทัพพี / เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ 1.5-2, 2, 2, 3 ช้อนกินข้าว / ผัก 0.5, 1, 1, 1 ทัพพี / ผลไม้ อัตราส่วน 0.5, 1, 1, 1 และน้ำมัน 1, 1.5, 2, 2.5 ช้อนชา
"อาหารกลางวันที่ควรจัดให้นักเรียน 6-13 ปี ควรประกอบด้วย ข้าว แป้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ขนมหวาน นมวันละ 2 แก้ว โดยเฉพาะผักควรจะมีทุกวัน ปริมาณมากน้อยตามวัย ส่วนขนมหวานทำมาจากถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หรือเผือก เพราะให้สารอาหารแก่ร่างกาย ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อย จะได้รับงบอาหารกลางวัน น้อยตามไปด้วย สามารถบริหารจัดการโดยใช้ให้ครูและนักเรียนทำอาหารกลางวันเอง โดยวางแผนการผลิตทางการเกษตรเพื่อนำไปป้อนให้แก่โครงการอาหารกลางวัน" จงกลนี กล่าว
ที่สำคัญเด็กได้ทักษะต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ทักษะการชั่งน้ำหนักผัก การขายผัก สามารถคำนวณปริมาณการจัดเก็บผักจากแปลงในแต่ละวัน เพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวัน รวมถึงเด็กได้เรียนรู้การลงบันทึกบัญชีผลผลิต โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ รวมทั้งให้ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงปลูกผักปลอดสารพิษนำมาจำหน่ายเป็นอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนได้
ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้ว่างบประมาณจะยังอยู่ที่ 20 บาทต่อคน แต่หากบริหารจัดการที่ดีเพียงพอก็สามารถสร้างเมนูอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ การสร้างนักโภชนาการท้องถิ่นเพื่อให้คำแนะนำในการจัดการอาหาร สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันให้มีการบรรจุตำแหน่งนักโภชนาการประจำชุมชนโดยมีงบประมาณการจ้าง หรือมีตำแหน่งประจำในแต่ละท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันให้แก่เยาวชนได้ดีขึ้น
คุณภาพอาหารกลางวันจึงถือเป็นวาระเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ทุกโรงเรียนมีพื้นที่อาหารปลอดภัย โดย ทรงวุฒิ มะลิวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนประถมศึกษา สพฐ. บอกว่า ปัญหาเรื่องคุณภาพอาหารกลางวันยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์โภชนาการในเด็กไทย ยังมีพบว่า เด็กในพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหา ผอม และเตี้ย ส่วนเด็กในเมืองมีภาวะโภชนาการล้นเกิน หรือเป็นโรคอ้วนจำนวนมาก ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาโปรแกรม Thai school lunch ช่วยคำนวณคุณค่าทางโภชนาการ ภายใต้การดูแลเฝ้าระวังของนักโภชนาการท้องถิ่น ให้มีแหล่งวัตถุดิบที่ได้คุณภาพ สะอาด ปลอดภัย จากในชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ศูนย์หรือโรงเรียน ไม่ว่า จะเป็น ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ ปลา
แต่เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ การสร้างคุณภาพโภชนาการและความปลอดภัยจะต้องมองไปที่วัตถุดิบที่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน จึงสนับสนุนให้โรงเรียนใช้วัถุดิบอินทรีย์ ทั้งผัก เนื้อสัตว์ต่าง ๆ โดยให้โรงเรียนที่มีพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงไก่ ให้โรงเรียนใช้งบประมาณอาหารกลางวันซื้อเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน
"ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีพื้นที่ปลูกผักเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ก็ให้ไปสนับสนุนชุมชนรวมกลุ่มปลูกพืชอินทรีย์ เพื่อนำมาขายให้โรงเรียน ก็จะทำให้โรงเรียนมีวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียน แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีผู้ปกครองที่ต้องดูแลอาหารสองมื้อต้องร่วมมือในการสร้างเมนูที่มีโภชนาการ จึงจะทำให้ปัญหาโภชนาการในเด็กนักเรียนหมดไป"
"สมร ศิลาคม" ผอ.โรงเรียนบ้านนามั่ง จ.อุดรธานี กล่าวว่า เป็นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ยากจน และมีภาวะทุพโภชนาการ มีนักเรียน 269 คน ครู 17 คน งบค่าอาหารกลางวันที่ได้ 20 บาทไม่เพียงพอ จึงต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของ ท้องถิ่น ช่วยให้นักเรียนได้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ทุกวิชาที่เรียนผ่านฟาร์มต่าง ๆ และบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ โดยมีครู 1 คน นักเรียน 3 คน รับผิดชอบฟาร์มหมุนเวียนเรียนรู้ทุกฟาร์มที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อมีรายได้ก็นำมาใช้จ่ายหมุนเวียนในโรงเรียนและปันผลให้แก่ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการในแต่ละฟาร์ม
ที่นี่มีฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เลี้ยงปลา เป็นอาหารกลางวัน ผลผลิตที่มีมากพอก็นำไปขายเพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนในโรงเรียน แต่ละฟาร์มมีเงินหมุนเวียนประมาณ 50,000-60,000 บาท และทุกครั้งที่ทำโครงการต่าง ๆ นักเรียนทุกคนจะต้องถอดบทเรียนวิเคราะห์ว่าพอเพียงหรือไม่ มีเหตุมีผลหรือไม่ กระทบสังคมและวัฒนธรรมหรือไม่ ถ้ามีคำถามหรือเหตุต้องปรับปรุงแก้ไขก็ว่าไปตามที่มาของปัญหาและแก้ไขตามเหตุและผลตามหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นำมาสอนนักเรียนในการดำรงชีวิต
เช่นเดียวกับ "สมศักดิ์ วุฒิสัตย์" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง จ.ตาก มีนักเรียนอนุบาล-ม.6 โรงเรียนหลักและสาขา รวมทั้งสิ้น 1,512 คน ก็ใช้หลักบริหารของโครงการเด็กไทยแก้มใส ใช้เมนูอาหารตาม Thai School Lunch โดยให้ครูและนักเรียนที่ร่วมกันรับผิดชอบในแต่ละวัน ไปตลาดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหาร โดยหลังจากที่ซื้อมาแล้ว จะมีคณะกรรมการตรวจรับว่าถูกต้องตามหลักโภชนาการหรือไม่ และมอบหมายให้ครูเวรและนักเรียนนำไปประกอบอาหารกลางวันต่อไป
"ถามว่า 20 บาทพอไหมสำหรับอาหารกลางวันตอบได้เลยว่าถ้าไปซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารอย่างเดียวไม่พอ แต่เราต้องมี วิธีบริหารจัดการให้เพียงพอและมีคุณภาพได้ เช่น ผักเราก็ปลูกเอง ไก่ ปลา ก็เลี้ยง เอาวัตถุดิบเหล่านี้มาประกอบอาหาร ใช้แนวทางเหล่านี้สอนนักเรียนไปในตัวด้วย เพราะนักเรียนทุกคนจะได้เข้าเวรทำอาหารกลางวัน" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง กล่าว
โครงการ "เด็กไทยแก้มใส" น้อมนำแนวทางการดำเนินงานและเจริญรอยตามพระราชดำริ 8 กิจกรรม ได้แก่ 1) การเกษตรในโรงเรียน 2) สหกรณ์นักเรียน 3) การจัดการบริการอาหารของโรงเรียน 4) การติดตามภาวะโภชนาการ 5) การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน 6) การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ 7) การจัดบริการสุขภาพ และ 8) การจัดการเรียนรู้ : เกษตร โภชนาการ และสุขภาพอนามัย โดยมีเป้าหมายที่จะให้เด็กนักเรียนทุกคนมีโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ไปพร้อมๆ กับการ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2557 มีโรงเรียนทุกสังกัด เข้าร่วมกว่า 544 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค 4 สังกัด ได้แก่ สพฐ. อปท. สช. และ กทม.