อาสาสมัครพาน้องเที่ยวหาด “โอกาส” ของผู้ให้และผู้รับ
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ดังก้องหาด กับภาพของเหล่าเด็กตัวน้อยๆ ที่กล้าๆ กลัวๆ ใจหนึ่งอยากกระโจนลงน้ำทะเลที่อยู่เบื้องหน้า แต่อีกใจก็ยังเกรงๆ กับสิ่งแปลกใหม่ที่เพิ่งได้สัมผัสเป็นครั้งแรก แต่แววตาของเด็กๆ ทุกคนต่างสะท้อนแวววิบวับสนุกสนานอย่างปิดบังไม่มิด
น้องๆ จากสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญา หรือ บ้านเฟื่องฟ้า จำนวน 31 คน ออกเดินทางจากเมืองหลวง มุ่งหน้าสู่หาดนางรำ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมกับอาสาสมัคร จำนวน 35 คน ที่พร้อมใจกันมาปฏิบัติหน้าที่ “พี่เลี้ยง”ให้กับเด็กๆ จากบ้านเฟื่องฟ้า ตามโครงการ “พลังอาสา สร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์” ซึ่งมูลนิธิสุขภาพไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จับมือกับสหทัยมูลนิธิ และเครือข่ายพุทธิกา ได้จัดกิจกรรมสร้างสุขให้กับเด็กๆในสถานสงเคราะห์ 4 แห่ง ได้แก่ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด ,สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี และบ้านเฟื่องฟ้า ซึ่งการพาน้องๆ ทัศนศึกษาหาดนางรำเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวด้วย
วิจิตตรา อิ่มโสภณ หรือ ครูปุ้ม นักกายภาพบำบัดชำนาญการบ้านเฟื่องฟ้า เล่าให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มที่เห็นเด็กในบ้านมีความสุขว่า เด็กๆ ที่พามาทัศนศึกษาเป็นกลุ่มที่มีความพิการอยู่ 2 ประเภท คือ กลุ่มพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ กับกลุ่มที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวและพิการทางร่างกาย ซึ่งอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมโครงการจะสมัครเข้ามาผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะช่วยคัดกรองโดยจัดปฐมนิเทศเพื่อดูทัศนคติของอาสาสมัคร ว่าเขามีจิตอาสาแค่ไหน สามารถดูแลน้องได้ไหม โดยให้อาสาสมัครได้รู้จักน้อง ได้รู้สภาพเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ และได้รับความรู้เรื่องการดูแลเด็ก เช่น การอุ้มเด็ก การทำความสะอาดเวลาเด็กขับถ่าย ก่อนจะพาน้องออกมาทัศนศึกษาจริงๆ โดยเจ้าหน้าที่จัดพี่เลี้ยงดูแลเด็ก 1 ต่อ 1 ส่วนในรายที่เด็กนั่งรถเข็นไม่สามารถเดินได้จะจัดพี่เลี้ยง 2 ต่อ 1 เพื่อช่วยกันดูแล
“การพาน้องๆ ออกมาทัศนศึกษานอกสถานที่ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ และสร้างโอกาสในการเรียนรู้สังคมภายนอก นอกจากนี้ยังช่วยภาวะด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะเด็กๆ ได้ออกมาเล่นทำให้พวกเขาร่าเริงแจ่มใส เด็กบางคนกลัวทรายไม่กล้าลงเดิน แต่พอได้ลองสัมผัสก็ชอบทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ ซึ่งปกติเด็กๆ ได้ออกมาทัศนศึกษานอกสถานที่บ้าง แต่จะไม่ได้ออกมาเยอะอาจจะแค่รถตู้ 1 คัน เพราะบุคลากรเราน้อย ก็ต้องแบ่งไปดูแลเด็กนอกสถานที่ และต้องมีคนดูแลเด็กที่อยู่ในบ้านด้วยพอมีโครงการนี้ ได้พี่ๆ อาสาสมัครก็ทำให้เด็กได้รับโอกาสที่ดีด้วย”ครูปุ้ม กล่าว
ครูนก-บุศดี กลิ่นชัน นักกระตุ้นพัฒนาการ บ้านเฟื่องฟ้า บอกกับเราว่า เด็กที่บ้านพัฒนาการช้าในทุกด้าน เราต้องพยายามกระตุ้นพัฒนาการ ทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เพราะพัฒนาการทุกด้านนี้จะประกอบกันขึ้นเป็นความพร้อมหรือความสามารถของเด็กที่จะเรียนรู้ในขั้นต่อๆ ไป ซึ่งเราสามารถกระตุ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด เด็กในบ้านจะถูกกระตุ้นทุกวัน ต้องทำซ้ำๆ เพื่อให้เด็กเกินการเรียนรู้ การพาเด็กมาเที่ยวก็ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการที่ดี เพราะเด็กมีอารมณ์ที่สนุกสนาน มีความสุข ได้ปลดปล่อย
พี่อ้อม-วรรณภา บางกระ พี่เลี้ยงเด็กบ้านเฟื่องฟ้า กล่าวว่า เด็กบางคนไม่เคยได้ออกมาเที่ยวเลย ทำให้เขากลัวคนแปลกหน้า แต่ในวันนี้การได้พาเด็กมาทะเล ทำให้เขาได้สัมผัสกับบรรยากาศ ธรรมชาติ เห็นสังคมภายนอก ได้พบเจอคนมากมาย โดยเฉพาะการที่มีอาสาสมัครได้เข้ามาช่วยดูแล แม้ว่าส่วนใหญ่จะเข้ามาช่วยระยะสั้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะไม่ได้พาเด็กๆ มาเที่ยว เพราะเรามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และเห็นใบหน้าของเด็กไหม เขายิ้ม ไม่กลัว เราเป็นพี่เลี้ยงเห็นภาพอย่างนี้ ก็มีความสุขนะคะ
ด้าน พ่อชัย-อภิชัย เปรมผลกมล อาสาสมัครรุ่นใหญ่วัย 53 ปี ที่เข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์กว่า 5 ปีแล้ว บอกว่า เริ่มแรกสมัครเข้ามาดูแลเด็กอ่อนที่บ้านพญาไทเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เนื่องจากต้องการให้ลูกได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการแบ่งปันเพราะจัดการศึกษาที่บ้าน(home school) แต่ตอนนี้ลูกโตแล้ว ก็ยังมาเป็นอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ ปัจจุบันดูแลน้องวงศ์ศิริ เป็นเด็กคนที่ 5 แล้วที่เราได้ดูแล ซึ่งดูแลเขามาตั้งแต่น้องอยู่ที่บ้านเด็กอ่อนพญาไทพอน้องย้ายมาอยู่บ้านเฟื่องฟ้าก็เลยตามมา อยากให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ที่สำคัญเด็กในวัยนี้เป็นช่วงที่ต้องการกำลังใจ หากปล่อยไปเขาอาจจะมีความคิดบิดเบี้ยว เมื่อโตขึ้นจะแก้ยาก อาสาสมัครถือเป็นกำลังสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เขาพัฒนา และที่เรามาเป็นอาสาสมัครไม่ใช่แต่เด็กที่ได้โอกาส ตัวเราเองก็ได้ฝึกตัวเองให้มีความอ่อนโยน และคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้นด้วย
ส่วน ป้าไกด์-นพวรรณ พงษ์ทอง พนักงานประจำบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอาสาสมัครวัยเดียวกับพ่อชัยที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 4 ปี แม้อายุ 55 ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงเพราะตั้งแต่มาถึงหาดนางรำ ป้าไกด์จะอุ้มน้องโดโด้ไว้ไม่ห่างตัว ป้าบอกว่า น้องเป็นเด็ก cp หรือสมองพิการ ป้าเลี้ยงน้องโดโด้มาตั้งแต่อยู่บ้านปากเกร็ด อายุ 1 ขวบครึ่ง แต่ตอนนี้อายุ 5 ปี 7 เดือนแล้ว การที่ป้าตามมาเลี้ยงน้องต่อที่บ้านเฟื่องฟ้า เพราะหากเราดูแลอย่างต่อเนื่อง ใส่ใจ ให้ความรัก เขาจะพัฒนาได้ เพราะเดิมน้องโดโด้ ขยับไม่ได้ เขี้ยวอาหารไม่ได้ แต่ตอนนี้น้องนั่งเองได้ ทานเองได้ เกาะได้ ทำให้เรามีความสุข
“ป้าไม่เคยเชื่อเลยว่าตัวเองจะมาเลี้ยงเด็กพิการได้ แต่เมื่อมาเป็นอาสาสมัครแล้ว ไม่ยากเลย อาสาสมัครสามารถที่จะมาช่วยให้เด็กมีพัฒนาการมากขึ้น โลกของเด็กพิการเขาต้องการคนมาช่วยเหลือ อย่างวันนี้น้องโดโด้ไม่เคยมาเที่ยวทะเลย และซึ่งเขาควรได้เห็นสังคมปกติทั่วไปด้วย ป้าเห็นเด็กมีความสุข เราก็รู้สึกดี รู้สึกตัวเองมีคุณค่า ป้าจะเป็นอาสาสมัครจนกว่าจะหมดแรง ป้ามาที่นี่คนเดียว แต่เมื่อมาทำนานเข้ามาเจอเพื่อนอาสาสมัครคนอื่นๆ ก็สนิทกันเป็นความผูกพันธ์ที่ดี การเป็นอาสาสมัครเลี้ยงเด็กพิการไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้ลองมาเป็นก่อน” ป้าไกด์ กล่าว
น้องอร-อรอนงค์ ศรีสุวิทธานนท์ วัย 33 ปี อาสาสมัครรุ่นใหม่ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครด้านอื่นๆ มาก่อน แต่นับเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้มาดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ โดยเธอบอกว่า“ลูก”ของเธอที่ต้องดูแลมีการตอบสนองค่อนข้างช้า แต่ก็เป็นเด็กที่ดูแลง่าย การทำให้เด็กคนหนึ่งมีความสุขได้เราก็ได้รับความสุขจากเขากลับมาด้วย เป็นการให้โอกาสทั้งตัวเด็กและตัวเราที่จะเปิดใจให้กับสังคม ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ ได้รู้จักเพื่อนอาสาสมัครใหม่ๆ ซึ่งหากมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอีกก็จะพยายามทำต่อไปให้ต่อเนื่องมากที่สุด
เสียงครู พี่เลี้ยง นักพัฒนาการ อาสาสมัคร ดังแทรกเสียงหัวเราะของเด็ก ออกมาทำนองเดียวกัน ว่า ปัจจุบันอาสาสมัครที่มีความพร้อมในการทำความเข้าใจในการดูแลเด็กกลุ่มนี้มีไม่ต่อเนื่อง เพราะอาสาสมัครแต่ละคนมีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ แม้ว่าทางบ้านเฟื่องฟ้าอยากจะได้อาสาสมัครที่สามารถเข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีความเข้าใจเด็กที่ตนเองดูแลและเห็นพัฒนาของเด็ก แต่ก็เข้าใจภาวะความจำเป็นของแต่ละคน อย่างไรก็ตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ ยังต้องการอาสาสมัครเข้ามาช่วย โดยอาจจะมาช่วงวันหยุด มาช่วยป้อนอาหารให้น้อง หรือเข้าร่วมโครงการเป็นครั้งคราวก็ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะดูแลเด็กได้หรือไม่ ก็อาจจะเข้ามาเรียนรู้และสัมผัสกับเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์ก่อนก็ได้ เพื่อเลือกทำงานอาสาสมัครที่เหมาะสมกับตัวเอง
แม้จะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสั้นๆ เพียง 1 วัน แต่เชื่อว่าในความรู้สึกทั้งของน้องๆ บ้านเฟื่องฟ้า และพี่ๆ อาสาสมัคร จะยังจดจำภาพรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ดังไปทั่วหาดได้อีกนานแสนนานอย่างแน่นอน และสำหรับผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลน้องในสถานสงเคราะห์ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิสุขภาพไทย http://www.thaihof.org เพื่อเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครได้ตามความสนใจ แต่ความหวังของเราที่ยังคงเป็นไปได้ยากคือการได้มาซึ่งอาสาสมัครระยะยาว
ที่มา: หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการ