อาสาทางดนตรีเยียวยาเด็กผู้พิการทางสมอง
งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า "เสียงดนตรี" นอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กผู้พิการทางสมองและปัญญาได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้ผลคือ การใช้ดนตรีเพื่อบำบัดหรือดนตรีบำบัด (Music Therapy)
ขณะที่ "โครงการ Melody of Hearts" ภายใต้โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย GEN A (ACTIVE CITIZEN) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการทำกิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
หัวหน้าโครงการ Melody of Hearts "ลูกแก้ว" หรือนางสาวอรุณพร ทักษิณทวีทรัพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เล่าว่า ตนและเพื่อน ๆ สมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 5 คน ซึ่งเรียนสาขาวิชาการแสดงดนตรีอยากจะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีสร้าง Melody of Hearts Model ได้แก่ สื่อการเรียนการสอน กิจกรรมดนตรี และมุมดนตรีในสถานสงเคราะห์ เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ และสมองให้แก่กลุ่มเด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญาผ่านดนตรีบำบัด (Music Therapy) และเกิดการต่อ ยอดไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ใน ระยะยาว
"ในช่วงแรกเราได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโดยการสังเกตกิจกรรมดนตรีในสถานศึกษาที่มีโครงการเพื่อเด็กผู้พิการทางสมองและปัญญา และสำรวจสภาพและความต้องการของเด็กในสถานสงเคราะห์ จากนั้นจึงเริ่มทำประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียในการรับอาสาสมัครและระดมเงินทุนและสิ่งของเพื่อนำไปมอบให้สถานสงเคราะห์ด้วย ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก"
ลูกแก้วเล่าต่อว่า สำหรับการทำกิจกรรมครั้งนี้ได้ประสานกับทางสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญา (บ้านเฟื่องฟ้า) จังหวัดนนทบุรี โดยใช้กิจกรรมการแสดงดนตรี และกระตุ้นทักษะความตื่นตัวผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น ปรบมือเข้าจังหวะ ร้องเพลง เล่น และเต้นประกอบจังหวะ
"หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ในสถานสงเคราะห์แห่งนี้ทำให้หนูรู้สึกว่า การจะทำให้อะไรเพื่อสังคมหรือทำเพื่อคนอื่นนั้นมันไม่ใช่เรื่องยากหรือยิ่งใหญ่เกินตัว เพราะเพียงแค่เราเริ่มต้นทำสิ่งเล็ก ๆ ที่เราพอจะทำได้ก็ถือว่าเป็นการทำสิ่งที่ดี ๆ และเชื่อว่าการกระทำเหล่านี้จะสามารถเป็นต้นแบบให้ใครหลายคนได้ฉุกคิดและอยากทำอะไรดี ๆ ให้กับสังคมบ้าง" ลูกแก้วเล่า
สำหรับผลตอบรับ "อรอนงค์ เธียรไทย" หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์ (บ้านเฟื่องฟ้า) บอกว่า ที่นี่มีเด็กพิการทางสมองทั้งหมด 40 คน ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ดังนั้นกิจกรรมหลักส่วนใหญ่จึงเป็นการใช้ดนตรีบำบัดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ๆ ทั้งในด้านของการ กระตุ้นพัฒนาการ การตอบสนองต่าง ๆ ทั้งการขยับร่างกายเพื่อประกอบจังหวะยังจะช่วยบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ด้วย ส่วนในด้านจิตใจก็ช่วยให้รู้สึก ผ่อนคลาย สนุกสนาน ช่วยปรับอารมณ์ให้เด็ก ๆ ได้
เด็กพิการทางสมองมีการรับรู้และตอบสนองไม่ต่างจากเด็กปกติ สังเกตได้จากการที่พวกเขาพยายามจะส่งเสียงร้อง ขยับแขนขาตามจังหวะเพลง และที่สำคัญคือรอยยิ้มของเด็ก ๆ ที่ทำให้เห็นว่าเสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อการเยียวยาจิตใจมนุษย์มากจริง ๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์