อารมณ์ขันช่วยสร้างสุขในองค์กร

ลดขัดแย้ง-เพิ่มความสัมพันธ์

 

          หลายปีมานี้ ต้องขอขอบคุณและขอชื่นชม ในความพยายามของนายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สสส. ที่ได้ทำการเผยแพร่แนวคิดในการสร้างสุขในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเก็บรวบรวมกรณีศึกษาจากองค์กรน้อยใหญ่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มารวบรวมเห็นชุดหนังสือ ซีดี อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อาทิหนังสือร้อยความคิด สร้างสุขในองค์กร สุขกับงาน เรื่องน่ารู้เพื่อให้องค์กรน่าอยู่ ฯลฯ ทำให้แนวคิดการสร้างสุขในองค์กร นำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ จนเกิดตัวอย่างที่ดีๆ ในสังคมมากมาย

 

อารมณ์ขันช่วยสร้างสุขในองค์กร

          อีกทั้งยังทำให้รูปธรรมการสร้างสุขในองค์กรมีความหลากหลายมิได้จำกัดเพียงสวัสดิการพื้นฐาน แต่หากยังรวมมถึงไปถึงการดูแลสภาพบรรยากาศในการทำงาน ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยทำพนักงานในองค์กรผ่อนคลาย แต่ยังส่งเสริมบรรยากาศการสร้างสรรค์ คือไม่ใช่เพียงแต่จะจัดให้พนักงานได้ทานอาหารว่าง หรืออาหารกลางวัน

 

          แต่ยังมีการออกแบบตกแต่งพื้นที่ ที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุข เช่น การตกแต่งห้องอาหารให้เหมือนกับรีสอร์ท ลงทุนทำมุมกาแฟสด มุมสวนหย่อม หรือ การตกแต่งห้องนั่งเล่นในสำนักงาน ด้วยเก้าอี้สีสัน รูปแบบทันสมัย รวมถึงมีซีดีเพลงให้เลือกฟัง อย่างเช่นบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นส์ หรือบางแห่ง อย่างเช่น สสส.มีโต๊ะปิงปอง เตรียมพร้อมให้เจ้าหน้าที่ยกมาเล่นช่วงพักเที่ยงกันบนตึกเลยทีเดียว

 

          ตัวอย่างเหล่านี้ และรูปธรรมแห่งการสร้างสุขในที่ทำงานอีกมากมาย ที่หากจำแนกคงอีกยาว ล้วนมุ่งไปที่ การทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ความสุขใจของพนักงานนั้นส่งผลต่อประสิทธิผลของการทำงานมากทีเดียว

 

          แนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมและไม่อาจมองว่าเป็นเรื่องขบขันอีกต่อไปแล้ว ก็คือ การสร้างอารมณ์ขันในที่ทำงาน เพื่อให้พนักงานได้ยิ้มและหัวเราะให้มากขึ้น ซึ่งที่ประเทศแคนาดามีผลการวิจัยออกมาว่า เทคนิคการสร้างอารมณ์ขันให้ลูกน้อง ที่ผู้จัดการสถาบันการเงินหลายแห่งนำมาใช้ ส่งผลให้พนักงานมีผลงานในการทำงานดีขึ้นมาก

 

          นอกจากนี้ยังพบว่า การสร้างอารมณ์ขันของมนุษย์ ยังส่งผลดีต่อความแข็งแรงทางกายด้วย ซึ่ง ดร.วิลเลียม ฟราย แห่งมหาวิทยาลัยแสตนท์ฟอร์ด พบว่า การหัวเราะ สองร้อยครั้ง สามารถช่วยเผาผลาญพลังงาน ได้เท่าๆ กับการวิ่งบนสายพาน นานถึงสิบนาที การหัวเราะยังช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือดช่วยลดความดันโลหิต เพิ่มระดับพลังงาน ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและทำให้ระบบภายในทำงานได้อย่างสมดุล นอกจากนี้การหัวเรายังส่งผลต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย immune system อีกด้วย

 

          ด้านการทำงานว่ากันว่า เสียงหัวเราะในที่ทำงานยังจะช่วยสร้างบรรยากาศในการลดความขัดแย้ง ลดความเครียดในการทำงาน และเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยแต่แม้จะรู้ว่าอารมณ์ขันช่วยสร้างสุขในองค์กรได้ราวกับยาวิเศษแต่วันๆ หนึ่ง ที่เราไปทำงาน เราะจะสามารถพาตัวเองออกจากความเครียด หันมายิ้ม หัวเราะได้สักกี่ครั้งกันเนี่ย!!

 

          เชื่อว่าข้อมูล ที่ ดร.เกศรา รักชาติ ที่ปรึกษาด้านการสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ เคยระบุว่าไว้ ที่ว่าโดยเฉลี่ยแล้วเด็กนักเรียนอนุบาลหัวเราะหรือยิ้มวันละ 400 ครั้ง พอคนเราอายุมากขึ้น เราจะหัวเราะและยิ้มโดยเฉลี่ยเหลือ วันละ 15 ครั้งเท่านั้นข้อมูลนี้น่าจะช่วยทำให้ประเมินในเบื้องตันได้ว่า วันนี้ องค์กรของเรามี คนทำงานที่มีความสุขมากเพียงใด หรือมีกยักษ์หลายๆ ตัวมากกว่า…ลองไปนับดูนะ

 

          “เสียงหัวเราะในที่ทำงานยังจะช่วยสร้างบรรยากาศในการลดความขัดแย้ง ลดความเครียดในการทำงานและเพิ่มสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วย”

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update 08-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย: อารยา สิงห์สวัสดิ์

 

Shares:
QR Code :
QR Code