อายุเกิน 60 ปี มีสิทธิ์อัลไซเมอร์ถึง 10%
มีโอกาสจะเกิดความจำเสื่อม
นพ.ไพโรจน์ บุญคงชื่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรม ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคอัลไซเมอร์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี มีโอกาสจะเกิดความจำเสื่อม การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ จะดูจากประวัติการลืมและความผิดปกติอื่น
เช่น ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดได้ ถ้าอาการชัดเจนก็จะให้การวินิจฉัยได้เลย แต่ถ้าเป็นอาการเริ่มแรก อาจต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยสักระยะหนึ่งร่วมกับการตรวจเอกซเรย์พิเศษที่ดูการใช้ออกซิเจนและการใช้พลังงานสมอง หากตรวจพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถให้ยาช่วยเพื่อชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง ให้สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้นานขึ้น แต่ไม่สามารถให้กลับมาจำได้ดีเท่าเดิม
ด้าน พญ.โสฬสินี เหมรุ่งโรจน์ จิตแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีงานวิจัยและการวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ จึงพบการวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ในประเทศไทยมีเข้ารับการตรวจและพบเป็นโรคอัลไซเมอร์กว่า 200,000 รายแล้ว ในอนาคตอาจมีจำนวนมากขึ้นหากมีการตรวจโรคกันมากขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับความคิด ความจำและการใช้ภาษา อาการหลงลืมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะค่อนข้างเหนื่อยมาก และควรต้องมีหลายคนสับเปลี่ยนกันดูแล บางครั้งผู้ที่ดูแลต้องได้รับการดูแลจิตใจด้วยเช่นกัน การดูแลผู้ป่วยมีทั้งให้รับประทานยาเพื่อลดอาการ และพบว่าการปรับสิ่งแวดล้อมก็จะช่วยได้มาก
“บางคนเกิดภาพหลอนต่างๆ กังวลว่าจะมีใครมาปองร้าย ซึ่งส่วนนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของจิตใจและการรับรู้จากระบบประสาทเสื่อมลง บางครอบครัวปรับสิ่งแวดล้อมในบ้าน เช่น ปรับไม่ให้มีกระจกในบ้าน ช่วยลดอาการนี้ได้มาก แต่เคยมีการวิจัยในสหรัฐพบว่า การป้องกันและชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้คือ การมีความสุขทุกวัน มองโลกในแง่ดี มีชีวิตอยู่เพื่ออุทิศตนต่อส่วนรวม” พญ.โสฬสินีกล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update:26-03-52