อย. โต้นมกล่องคุณค่าอาหารต่ำ

มหาดไทยห่วงต้นทุนพุ่ง เป็นภาระท้องถิ่น

 

 อย. โต้นมกล่องคุณค่าอาหารต่ำ

          อย. เห็นแย้งมาตรการแจกนมยูเอชที ชี้คุณค่าอาหารต่ำ กระทบผู้ประกอบการนมพาสเจอร์ไรซ์ มหาดไทยห่วงต้นทุนนมกล่องพุ่งเป็นภาระท้องถิ่น โบ้ย ศธ. ซื้อนมแจกเอง ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ผู้ประกอบการนมถุงปรับตัวใน 3 เดือน ทำไม่ได้แนะให้จ้างรายอื่นผลิต

 

          ความคืบหน้าแก้ปัญหานมโรงเรียน วานนี้ (5 มี.ค.) นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหานมทั้งระบบอย่างยั่งยืน ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานองค์กรต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ

 

          ว่าที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการตามผลการประชุมของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้เปลี่ยนสัดส่วนนมยูเอชทีหรือนมกล่องและนมพาสเจอร์ไรซ์หรือนมถุงในโครงการนมโรงเรียน เป็นนมยูเอชที 70% และนมพาสเจอร์ไรซ์ 30% จากเดิมนมยูเอชที 30% และนมพาสเจอร์ไรซ์ 70%

 

          อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจาก อย. ไม่เห็นด้วย ระบุว่านมพาสเจอร์ไรซ์ มีคุณค่าทางอาหารมากกว่านมยูเอชที ขณะที่ปัจจุบันผู้ประกอบการบางราย ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์เพื่อส่งโครงการนมโรงเรียนเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนสัดส่วนจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการส่วนนี้โดยตรง นอกจากนี้กล่องนมยูเอชทียังมีกระบวนการกำจัดยากมาก ไม่ดีกับสิ่งแวดล้อม

 

          ส่วนผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า นมยูเอชทีมีราคาแพงกว่านมพาสเจอร์ไรซ์ประมาณกล่องละ 30 สตางค์ ในขณะที่รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณในการขยายโครงการนมโรงเรียนในระดับประถมปีที่ 5 – 6 ทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการมาก โดยงบดังกล่าวจะต้องโอนให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นผู้รับผิดชอบ

 

          ในเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังตรวจสอบได้ยาก ดังนั้นหากต้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ควรให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

 

          นายจรัลธาดา กล่าวว่า ข้อสังเกตที่ได้รับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถือเป็นข้อกังวลที่ต้องหาทางแก้ไข ในเบื้องต้นการเพิ่มสัดส่วนนมยูเอชทีจะต้องแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงปิดเทอม 3 เดือนนี้ จะเป็นนมยูเอชทีทั้งหมด และเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการนมพาสเจอร์ไรซ์จะต้องปรับตัว

 

          ทั้งนี้เพราะนมยูเอชที ยังมีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วน เพราะง่ายต่อการขนส่ง จัดเก็บได้นานกว่า เมื่อเทียบกับนมพาสเจอร์ไรซ์ ที่แม้จะมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าแต่ก็เน่าเสียได้ง่ายจากอากาศร้อน จัดเก็บยาก และถุงที่บรรจุยังมีช่องเล็กๆ ที่อากาศสามารถเข้าไปได้ทำให้นมบูดเร็วกว่าปกติ โดยทั้งหมดกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในการประชุมวันที่ 10 มี.ค.

 

          นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนมีทั้งสิ้น 83 ราย แยกเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์และนมยูเอชที 12 รายที่เหลือ 71 รายผลิตเฉพาะนมพาสเจอร์ไรซ์เพียงอย่างเดียว และส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์

 

          ซึ่งในช่วงปิดเทอมผู้ประกอบการเหล่านี้ ใช้วิธีจ้างผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อผลิตนมยูเอชทีส่งมอบให้กับโครงการนมโรงเรียน ดังนั้นหากต้องปรับตัวเพื่อสอดรับกับมาตรการใหม่ของรัฐบาล ผู้ประกอบการอาจใช้วิธีจ้างต่อไปได้ เนื่องจากการลงทุนตั้งโรงงานผลิตนมยูเอชทีจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update 06-03-52

Shares:
QR Code :
QR Code