อย.เล็งประกาศเกณฑ์โภชนาการบะหมี่ซอง

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


อย.เล็งประกาศเกณฑ์โภชนาการบะหมี่ซอง thaihealth


อย.เล็งประกาศหลักเกณฑ์การใช้สัญลักษณ์โภชนาการกับกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป ทั้งบะหมี่ซอง ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ และมอลล์สกัด ชาปรุงสำเร็จ ให้มีปริมาณไขมัน เกลือและน้ำตาลที่เหมาะสม หลังจากออกฉลากโภชนาการทางเลือกสุขภาพในหลายผลิตภัณฑ์อาหารไปแล้ว หวังลดจำนวนผู้ป่วยโรคเอ็นซีดี ทั้งโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน โรคไต ในคนไทย


นพ.วิศิษฏ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้านและอาหารสำเร็จรูป ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง อีกทั้งมีพฤติกรรมการบริโภคผัก ผลไม้น้อยเกินไป มากไปกว่านั้นคือไม่มีการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มการเกิดในกลุ่มดังกล่าวสูงจนน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ จากการรายงานภาวะโรคและการเจ็บป่วยของประชากรไทย พ.ศ.2552 พบว่า NCDs เป็นสาเหตุของการตายถึง 314,340 ราย หรือร้อยละ 73 การตายของประชากรทั้งหมด ดังนั้นจึงมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่ทางเลือกสุขภาพที่ดี ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ดำเนินโครงการสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมันและเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณที่เหมาะสม


โดยสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม และเครื่องปรุงรส โดยตัวอย่างหลักเกณฑ์การพิจารณาของกลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6,000 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5,000 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เป็นต้น หรือนับตั้งแต่มีการประกาศใช้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2559 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 กลุ่มอาหาร 57 ผลิตภัณฑ์ จาก 14 บริษัท ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม 55 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเครื่อง ปรุงรส 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 21 บริษัท และมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการจากบริษัทต่างๆ มาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค


นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด และภาวะไตวายเรื้อรัง ปัญหาดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามในประชากรไทย ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ.2556 รายงานว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด เป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อนกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในปี พ.ศ.2552 สูงถึง 5,580.8 ล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 2.01 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า ดังนั้น อย.และมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการประกาศหลักเกณฑ์การใช้สัญลักษณ์โภชนาการกับกลุ่มอาการประเภทต่างๆ เช่น กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) กลุ่มผลิตภัณฑ์นม และกลุ่มเครื่องหมายที่ขยายขอบข่าย (เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ และมอลล์สกัด ชาและปรุงสำเร็จ) เพื่อขยายฉลากออกไปในวงกว้างต่อไป ทั้งนี้ การที่ได้ร่วมมือกับทาง ม.มหิดล เพื่อให้ประชาชนตระหนักและลดอาหารประเภท หวาน มัน เค็ม อีกทั้งเมื่อมีฉลากเกิดขึ้น ประชาชนจะมีสิทธิ์เปรียบเทียบโภชนาการระหว่างสินค้าประเภทเดียวกันก่อนตัดสินใจซื้อได้อีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code