อย.หนุนเพิ่มโทษคนทำยาปลอม


คาดเสร็จทันใช้ในปีหน้า พร้อมสั่งด่านอาหารและยาเข้มงวดเป็นพิเศษ


นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “เพิ่มพูนวิทยาการ สานวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อประชาชน” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค  ว่าอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยเติบโตค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันที่ได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี 163 แห่ง มีมูลค่าการใช้ยาในประเทศปีละเกือบ 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นยาผลิตภายในประเทศ 3.7 หมื่นล้านบาท และนำเข้าจากต่างประเทศ 4 หมื่นล้านบาท ที่น่าห่วงมากขณะนี้คือเรื่องยาปลอม


           องค์การอนามัยโลกระบุว่า 15% ของยาที่ผลิตออกจำหน่ายทั่วโลกอาจเป็นยาปลอม โดยพบว่ายา 50% ที่วางขายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเป็นยาปลอม โดยไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ที่มีปัญหาการระบาดของยาปลอม จากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ามูลค่าของยาปลอมในประเทศไทยมีน้อยกว่า 1% ของมูลค่ายาในประเทศหรือประมาณ 800 ล้านบาท


           นพ.มรกต กล่าวว่า ยาปลอมส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค ยารักษาหวัดนก และยาในกลุ่มที่มีราคาแพง เช่น ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาลดความอ้วน ซึ่งลักลอบนำมาขายในจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดตามแนวชายแดน ส่วนมากผลิตมาจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ยาปลอมเหล่านี้นอกจากจะเกิดการสูญเสียเงินทองแล้ว ยังรักษาโรคไม่ได้ผล และก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาเกิดขึ้น เชื้อรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ ที่ชัดเจนขณะนี้คือ โรคมาลาเรีย วัณโรค ตามแนวชายแดนไทย พบประมาณ 1-2% จะต้องเร่งกวาดล้างปัญหาให้หมดไปโดยเร็วที่สุด


           ด้านภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้ อย. กำลังปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาที่ไม่มีคุณภาพหรือยาปลอม โดยให้มีบทลงโทษ   ผู้กระทำการฝ่าฝืนให้รุนแรงขึ้น ผู้ผลิตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 3 แสนถึง 5 ล้านบาท ส่วนผู้ขายหรือนำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 2 ล้านบาท ซึ่งตามบทลงโทษเดิมที่ใช้มา กว่า 40 ปี ผู้ผลิตมีโทษจำคุกเท่ากัน แต่โทษปรับเพียง 1-5 หมื่นบาท ส่วนผู้ขายหรือผู้นำเข้ามีโทษจำคุกเหมือนกันแต่โทษปรับถูกมากเพียง 2,000-1 หมื่นบาท คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2551 นี้


           ขณะเดียวกันได้ให้ด่านอาหารและยา ที่กระจายอยู่ครอบคลุมตามแนวชายแดน 35 ด่านเข้มงวดกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ หากประชาชนพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556


 


 


 


 


ที่มา

ข้อมูลจาก:
เดลินิวส์

ภาพประกอบ:
www.thaihealth.or.th



update 07-12-50


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ