อย.ชี้กินยาลดอ้วน-เสี่ยงหลอน
แนะควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนในสัดส่วนที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข น.พ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการ อย. เปิดเผยถึงกรณีผู้หญิงกระโดดทางด่วนฆ่าตัวตาย และจากการตรวจสอบของตำรวจทราบว่าผู้ตายกินยาลูกกลอนลดความอ้วน และอาจทำให้เกิดอาการหลอน เป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตายว่า อย.ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และจากการประสานงานกับตำรวจผู้ดูแลคดี ทราบว่ายาในรถของผู้ตายเป็นยาแคปซูลสีน้ำตาล แต่ไม่ได้ระบุชื่อยา หรือข้อมูลใดๆ ที่ภาชนะบรรจุยาแต่อย่างใด นอกจากนี้ มารดาและสามีของผู้เสียชีวิต แจ้งว่าผู้เสียชีวิตเคยกินยาลดความอ้วน แต่เลิกกินไปนานแล้ว ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับยาลดความอ้วนในข่าว เป็นข้อมูลจากการสันนิษฐานเท่านั้น และขณะนี้ศพถูกส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวชแล้ว คาดว่าจะทราบผลอีกประมาณ 2 เดือน
น.พ.ชาตรีกล่าวว่า สำหรับยาลดความอ้วนที่ส่วนใหญ่มักใช้กัน ได้แก่ ยาเฟนเตอมีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ใช้เป็นยาลดความอยากอาหาร จากข้อมูลด้านความปลอดภัย และประสิทธิผลของการรักษา กำหนดให้ใช้ในระยะสั้นคือ 4-6 สัปดาห์ และต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน เพราะมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด อีกทั้งยายังมีผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว หากใช้ไปนานๆ อาจถึงขั้นติดยาได้ หรือทำให้น้ำหนักที่ลดลงคืนกลับมาอีก รวมทั้งอาจพบอาการอื่นๆ อีก คือ ปากแห้ง อาเจียน ท้องผูก เหงื่อออก ตื่นเต้น ม่านตาขยาย ประสาทหลอน อาจทำให้เกิดโรคจิตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ชัก โคม่า และตายได้
เลขาธิการอย. กล่าวต่อว่า การใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อมากินเอง เพราะมีผลกระทบต่อสมอง และร่างกายหลายส่วน มีผลข้างเคียงหลายอย่าง ต้องใช้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสมอ การใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วน เมื่อหยุดยาน้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก ดังนั้นควรพิจารณาว่ายาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาในระยะยาวของโรคอ้วน ควรชั่งน้ำหนักระหว่างผลที่อาจเกิดจาก ผลข้างเคียงของยา และผลเสียจากโรคอ้วน ก่อนจะเริ่มใช้ยาลดความอ้วน รวมทั้งต้องคำนึงถึงการรักษาและปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมไปด้วย ได้แก่ การรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง อีกทั้งจะต้องควบคุมการบริโภคอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนในสัดส่วนที่เหมาะสม
ที่มา: ข่าวสด
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 24-04-51