อย.จี้ผู้ประกอบการแสดงสารอาหาร 29 ชนิด

เผยฝ่าฝืนมีโทษปรับ 3 หมื่นบาท

 อย.จี้ผู้ประกอบการแสดงสารอาหาร 29 ชนิด

          ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการแสดงข้อความกล่าวอ้างเกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหาร เพื่อให้การแสดงข้อความกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหารเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ.2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2551 ว่า อย.ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการผู้ผลิตอาหารต้องแสดงข้อความกล่าวอ้างเกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหารที่เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ จำนวน 29 รายการ ได้แก่ โปรตีน ใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซิน วิตามินบี 6 กรดโฟลิค/โฟเลต ไบโอติน กรดแพน-โทธินิค วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไอโอดีน แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง โพแทสเซียม แมงกานิส ซีลีเนียม ฟลูออไรด์ โมลิบดีนัม โครเมียม และคลอไรด์

 

          ภก.มานิตย์ กล่าวว่า สำหรับข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร เช่น โปรตีน จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย กรดอะมิโนท จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ ในร่างกาย ใยอาหาร เพิ่มกากใยระบบทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เป็นต้น จึงจะถือว่าเป็นข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจาก อย. ส่วนกรณีข้อความกล่าวอ้างมีหลายข้อความ ผู้ประกอบการ สามารถเลือกข้อความใดข้อความหนึ่ง หรือหลายข้อความก็ได้ อย่างไรก็ตาม การแสดงข้อความต้องต่อเนื่องกัน และต้องแสดงข้อความ “ควรกินอาหารหลากหลาย ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ” กำกับการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารด้วยตัวอักษรที่ชัดเจน ควบคู่ไปด้วย

 

          “ผู้ประกอบการรายใดมีความประสงค์จะแสดงข้อความการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารแตกต่างจากที่ อย.กำหนด ต้องขอความเห็นชอบจาก อย.ก่อน จึงจะสามารถแสดงการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารบนฉลากได้ ส่วนผู้ประกอบการรายเก่าที่ได้รับความเห็นชอบฉลากอาหารจาก อย.ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ ต้องยื่นแก้ไขฉลากได้ที่กองควบคุมอาหาร อย. โดยในระหว่างที่รอการแก้ไข สามารถใช้ฉลากอาหารเดิมได้แต่ต้องไม่เกิน 1 ปีนับจากวันที่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ หากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามที่ อย.กำหนด หรือไม่ได้รับความเห็นชอบจาก อย.จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท” ภก.มานิตย์กล่าว และว่า ดูรายละเอียดได้ที่ www.fda.moph.go.th

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update : 09-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code