อย.คุมเข้มตรวจผัก-ผลไม้น้ำเข้าจากญี่ปุ่น
คุมเข้มอาหารญี่ปุ่นห้ามขายผัก ผลไม้ จนกว่าผลแล็บจะออกว่าไม่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสี
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารส่งตรวจที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตั้งแต่วันที่ 16-23 มี.ค. จำนวน 65 ตัวอย่าง โดยได้รับผลวิเคราะห์แล้ว 39 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลาสด 29 ตัวอย่าง มันเทศ 1 ตัวอย่าง ลูกพลับแห้ง 1 ตัวอย่าง สตรอว์เบอร์รี่ 2 ตัวอย่าง หอย 3 ตัวอย่าง กุ้ง 2 ตัวอย่าง และปลาหมึก 1 ตัวอย่าง ผลการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่พบการปนเปื้อน ดังนั้นขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าอาหารจากญี่ปุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายตอนนี้มีความปลอดภัย สามารถรับประทานได้อย่างผักผลไม้นำเข้าน้อยมาก เพราะประเทศไทยก็ปลูกได้แม้แต่วาซาบิ ปลูกในประเทศไทยก็มี
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่าขณะนี้เหตุการณ์การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในประเทศญี่ปุ่นรุนแรงมากขึ้น อย. จึงมีมาตรการในการปรับระดับการเฝ้าระวังอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยขอความร่วมมือผู้นำเข้าให้ระมัดระวังการนำเข้าอาหารจากเกาะฮอนชู โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งช่วงนี้ที่มีการนำเข้าเพียงมันเทศ 100 กก. สตรอว์เบอรี่ 20-30 กก. และลูกพลับแห้ง เท่านั้น อย.จะเก็บตัวอย่างทุกรายการมาตรวจ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้นำเข้าชะลอการจำหน่าย หรือกระจายสินค้า คือจะไม่อนุญาตให้จำหน่าย จนกว่าผลการตรวจวิเคราะห์จะเสร็จ สำหรับอาหารทะเล อย. จะสุ่มตัวอย่างเพิ่มมากขึ้น
“อย.จะขอให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เร่งดำเนินการตรวจผัก และผลไม้ก่อนสินค้าชนิดอื่น คาดว่าผลการตรวจวิเคราะห์จะใช้เวลาไม่เกิน 24 ชม. เมื่อผลตรวจวิเคราะห์ออกมาแล้วค่อยนำไปจำหน่าย ส่วนนมจากญี่ปุ่นนั้นขอเรียนว่าไม่ได้มีการนำเข้า แม้นมบางยี่ห้อมีชื่อญี่ปุ่นก็ไม่ได้นำเข้านมจากญี่ปุ่น” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
และว่า ในช่วงแรกจะเฝ้าระวังอาหารทะเล ผัก ผลไม้ ก่อน ส่วนขั้นตอนต่อไปจะเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หรือ ขนมที่มาจากญี่ปุ่น คาดว่าคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน ในอนาคตถ้าตรวจพบการปนเปื้อน คงต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น อาจจะขอให้ชะลอการนำเข้าสินดังดังกล่าว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการปนเปื้อนแต่อย่างใด
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ