อย่าลืม..ดูแลสุขภาพ ‘ไต’

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


อย่าลืม..ดูแลสุขภาพ 'ไต' thaihealth


อีกหนึ่งภัยเงียบสุขภาพใกล้ตัว "โรคไต" โรคที่บั่นทอนสุขภาพเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย การดูแลสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรคนับแต่เนิ่นๆ ก่อนต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยจึงไม่ควรมองข้าม…


ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สสส. ให้ความรู้ แนะนำการดูแลสุขภาพไตว่า สถานการณ์โรคไตยังคงมีแนวโน้มสูง ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย ที่จะต้องเข้ารับการล้างไต โดยให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพมาโดยตลอด  นอกจากนี้ทุกปีใน วันไตโลก ซึ่งปีนี้เน้นในเรื่อง โรคไตกับสตรี  โดยวันที่ 3 มีนาคม ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หลายหน่วยงานผสานความร่วมมือร่วมกันส่งเสริมความรู้ ให้ความสำคัญการดูแลสุขภาพไต กระตุ้นเตือนในประเด็นต่าง ๆ ที่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดขึ้นของโรคไต


"โรคไต เกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศชาย และเพศหญิง โดยมีโอกาสเป็นโรคไตได้พอ ๆ กัน แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรที่เป็นเพศหญิงของประเทศไทยมีจำนวนมากกว่าประชากรชาย ในเรื่องสตรีกับโรคไตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนี้บางโรคพบบ่อยในเพศหญิง อย่างเช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบ ขัด หรือมีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะขุ่นมีเลือดปน ฯลฯ โดยหากไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามไปถึงไต ก็เป็นเหตุให้ไตติดเชื้อซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย


อีกทั้งพบโรค SLE ซึ่งส่งผลกระทบกับทุกอวัยวะ ทำลายหลายระบบ รวมถึงส่งผลต่อไต ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และยังมี โรคอ้วน ซึ่งจะนำไปสู่โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ อีกทั้งการกินอาหารหวาน มัน เค็ม ก็ส่งผลต่อโรค ทั้งนี้ควรควบคุมการทานอาหารไม่ทานหวาน มัน เค็มเกิน ควรออกกำลังกาย ทานผักผลไม้ที่ไม่หวานจัด รวมถึงต้องดูแลจิตใจ ไม่เครียด ฯลฯ "


โรคไตจึงถือเป็นภัยเงียบ หากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ได้ตรวจเช็กค่าการทำงานของไต กว่าจะทราบหรือมีอาการอาจทำให้ไตเสียไป 70 เปอร์เซ็นต์ จึงแนะนำสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมีอายุมากกว่า 60 ปี ฯลฯ ควรได้รับการตรวจสุขภาพ ดูค่าการทำงานของไตปีละหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไตวาย โดยหากพบความผิดปกติ เข้าถึงการรักษานับแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันได้ การรักษา คุณหมอสุรศักดิ์ ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพไตเพิ่มอีกว่า โรคไตมีหลายสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้ อย่างเช่น ดื่มน้ำสะอาด ให้เพียงพอในแต่ละวัน การดื่มน้ำน้อยนั้นทำให้ร่างกายขาดน้ำ อาจติดเชื้อและอาจเป็นนิ่วได้ง่าย ทั้งนี้การดื่มน้ำที่เพียงพอจะช่วยละลายเกลือแร่ไม่ตกตะกอนกลายเป็นก้อนหิน ก้อนกรวดในไต ทำให้เป็นนิ่ว การดื่มน้ำจึงมีความสำคัญ อีกทั้งไม่ควรกลั้นปัสสาวะ และหากพบความผิดปกติอย่ามองข้าม ควรพบแพทย์


การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ให้ดีก็มีความสำคัญ รวมถึงเรื่อง อาหาร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ลดการทานหวาน มัน เค็ม การกินเค็ม หวานมากเกินไปต้องพึงระวัง ทั้งนี้ความหวาน แม้ไม่ทำให้เกิดโรคไตโดยตรง แต่หากยังคงกินอยู่มากจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งการกินหวานนาน ๆ โอกาสเกิดเบาหวานก็มีสูงขึ้น โรคความดันโลหิตจะตามมาและตามต่อมาด้วยโรคไต


อีกสิ่งสำคัญคือ การออกกำลังกาย ควรมีความสม่ำเสมอและต้องไม่ละเลยการพักผ่อนที่เพียงพอ โดยถ้าหัวใจดี ความดันโลหิตดีก็จะส่งผลดีหลีกไกลจากโรคไตและโรคต่างๆ การทานยา ก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ไม่ควรซื้อหายาทานเอง ยาบางชนิดมีผลต่อการทำงานของไต หากกินต่อเนื่องติดต่อกันนานเกินไป ไตจะถูกทำลายทีละน้อย ท้ายที่สุดทำให้เกิดไตวาย การทานยาควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกร  อีกทั้งไม่ละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่จะส่งผลต่อโรคร่วมด้วย ทั้งนี้นอกจากส่งเสริมสุขภาพแข็งแรงไกลห่างโรคไต ยังส่งผลดี ช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ได้ดีเช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ