อยู่บ้านให้ห่างฝุ่น

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ


อยู่บ้านให้ห่างฝุ่น thaihealth


แฟ้มภาพ


คงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้วหากเราจะเช็คสภาพอากาศ แล้วพบว่า ประเทศไทยตอนนี้กำลังอยู่ในช่วง "3 วันดี 4 วันฝุ่น" เมื่อปัญหาฝุ่นละออง และสารแขวนลอยในอากาศกำลังกลายเป็นประเด็นที่สังคมตื่นตัว และรับรู้ว่า นี่จะเป็นภัยใกล้ตัวที่จะอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของเรานับแต่นี้ต่อไป


เมื่อผู้คนในเมืองใหญ่จำเป็นต้องคุ้นเคยกับปัญหาวิกฤติฝุ่น PM2.5  ที่เกินค่ามาตรฐานอย่าง ต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คำถามสำคัญก็คือ ควรทำอย่างไรถึงจะเข้าใจ และปลอดภัยจากฝุ่นละอองเหล่านี้


เป็นที่รู้กันดีว่า เราอาจควบคุมปัญหาฝุ่นภายนอกบ้านไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถดูแลการใช้ชีวิตในบ้านให้ปลอดภัยจากฝุ่นได้


ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หรือ หมอแอน ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ บอกเล่าถึงผลกระทบ ของปัญหาดังกล่าวให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่า สาเหตุที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นอันตรายต่อร่างกายก็เพราะว่าเจ้าฝุ่นจิ๋วเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมเสียอีก เล็กจนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกรองได้ เมื่อไม่สามารถกรองได้ ฝุ่นเหล่านี้จึงเข้าสู่ร่างกายเราได้ง่ายเป็นพิเศษ  ผ่านการหายใจเข้าไปสู่เส้นเลือด และสามารถแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ รวมถึงสมอง แถมยังเป็นพาหะนำสารอันตรายต่างๆ เช่น ปรอท โลหะหนัก แคดเมียม ฯลฯ เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารอันตรายเหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ


ปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะระบบ ทางเดินหายใจของร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อหลายระบบของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็นระยะต้นกับระยะปลาย ระยะต้นคือมีอาการเฉียบพลันหรือภายใน24ชั่วโมงนับตั้งแต่สัมผัส โดยมีอาการตั้งแต่ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก  แสบคอ คันตา ไปจนถึงทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ไอ แน่นหน้าอก และหอบ หรือมีอาการทางผิวหนัง ได้แก่ คัน  ผื่นขึ้น หน้าบวม


"ส่วนระยะปลาย คือ มีอาการหลังจากสัมผัสฝุ่นละอองเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานเกิน 5 ปีขึ้นไป โดยอาจนำไปสู่


การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ และยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จากคนที่ไม่เคยเป็นโรคภูมิแพ้อาจกลายเป็นโรคภูมิแพ้ได้ในอนาคต" เธอย้ำ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์โรคแพ้อากาศในประเทศไทยยิ่งรุนแรงขึ้น จากการศึกษาพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็น "อันดับหนึ่งของเอเชีย" หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของประชากรทั้งประเทศ  โดยอาการโรคภูมิแพ้ที่พบในคนไทยมากที่สุด ได้แก่ คัดจมูก รองลงมาคือน้ำมูกไหล จาม และคัน ตามลำดับ ซึ่งกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยมีอาการทั้งทางจมูกและทางตา


ไม่เพียงเท่านั้น เด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่แข็งแรงยิ่งเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ โดยปัจจุบันเด็กในกรุงเทพมหานครป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบถึง 43.6 เปอร์เซ็นต์  รองลงมาคือโรคจมูกและเยื่อบุตาอักเสบ ผื่นผิวหนังเรื้อรัง โรคหืด และโรคหืดขั้นรุนแรง ตามลำดับ  โดยส่วนมากมักพบผู้ป่วยที่เป็น โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในกลุ่มเด็ก ช่วงอนุบาลจนถึงปฐมวัย


"นอกจากนี้ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น อาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไข้หวัด หอบหืด ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ตลอดจนปัญหาการนอนหลับ ไม่เพียงพอ อ้าปากหายใจ นอนกรน  ไปจนถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียนไม่รู้เรื่อง หรือทำงานได้ลดลง"


ถ้าอย่างนั้น เราอยู่ในบ้านอย่างไร ให้ปลอดภัยจากมลพิษ การหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตกลางแจ้งในช่วงนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่น PM2.5 หรือสวมหน้ากากอนามัย ทุกครั้งขณะออกไปข้างนอก หมอแอน ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ในบ้านหรืออาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ และปิดประตู หน้าต่างให้สนิทเพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามา อีกทั้งควรใช้เครื่องกรองอากาศเพื่อปรับคุณภาพอากาศภายในบ้าน ให้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิด โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ


"เพราะจริงๆ แล้วภายในห้องปิด ที่อากาศไม่สามารถถ่ายเทหมุนเวียน ยังพบตัวการสำคัญอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็น ไวรัส แบคทีเรีย สปอร์เชื้อรา ไรฝุ่น ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง เป็นต้น"


เมื่อคนเราอดอาหารได้นาน 5 สัปดาห์ อดน้ำได้นาน 5 วัน แต่เราขาดอากาศหายใจได้เพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น การหันมาเอาใจใส่สุขลักษณะใกล้ตัวอย่างเรื่องลมหายใจ และอากาศภายในบ้านก็ถือเป็นอีกทางหนึ่งใน การรักษาสุขภาพให้เราสามารถ อยู่ร่วมกับมลภาวะที่นับวันจะยิ่งทวี ความรุนแรงมากขึ้นได้

Shares:
QR Code :
QR Code