อยู่กลางแดดนาน ระวัง “ฮีทสโตรค”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเตือนประชาชนระวังโรคที่มากับช่วงฤดูร้อน (โรคหน้าร้อน) ว่า ปกติโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อนจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. โรคที่มากับน้ำและอาหาร ได้แก่ โรคอุจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ และอหิวาตกโรค ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัย คือ กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือทุกครั้งที่รับประทานอาหาร และไม่ควรเก็บอาหารไว้นานเกิน
2.โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปี 2552 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 23 ราย ส่วนในปี 2553 นี้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย และจากการสอบสวนโรคพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากสุนัขที่มีเจ้าของแต่ไม่ได้พาไปฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดบาดแผล ถือเป็นโรคที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่
และ 3. โรคที่เกิดจากแดด ความร้อนของอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดอาการตะคิวแดด เพลียแดด และลมแดดได้ ซึ่งต้องระวังในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งนานๆ เช่น ตีกอล์ฟ เนื่องจากแดดที่ร้อนจัด ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมาก เลือดข้น ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ อาจทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
“ในช่วงหน้าร้อนนี้ผมอยากให้พี่น้องประชาชนระวังกลุ่มโรคที่เกิดจากแดด และอากาศที่ร้อนจัด โดยเฉพาะการอยู่ในที่กลางแจ้งโดนแดดนาน ๆ ซึ่งการที่ร่างกายสูญเสียน้ำในร่างกายไปอย่างรวดเร็วจากอากาศร้อนจัดจนทำให้อวัยวะภายในหยุดการทำงาน เรียกว่า ฮีทสโตรค” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Update:06-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่