อบรมวิชาชีพระยะสั้นพลิกผันชีวิต
และแล้วก็สิ้นสุดโครงการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น รุ่นที่ 1 ที่คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ จังหวัดสุรินทร์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ระดับพื้นที่ 20 แห่งนำร่อง (จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 172 แห่ง ในจังหวัดสุรินทร์) ร่วมกับปัญจภาคีเครือข่ายในพื้นที่นำร่อง ทั้ง 20 แห่ง จับมือกันร่วมดำเนินการช่วยเหลือเด็กเยาวชนในพื้นที่ของตนที่ไม่จบ ม.3 และอายุไม่เกิน 20 ปี ให้ได้รับโอกาสกลับมา ศึกษาต่อจนจบการศึกษาภาคบังคับ ส่วนเด็กเยาวชนที่จบการศึกษาภาคบังคับแล้ว
แต่ไม่ได้ศึกษาต่อไม่มีงานทำ ที่อายุไม่เกิน 20 ปี ก็จัดการฝึกวิชาชีพให้สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ โดยจัดฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น 75 ชั่วโมง รุ่นที่ 1 ให้แก่เด็กกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นำร่องทั้ง ๒๐ แห่งข้างต้น รวมจำนวน ๒๖๓ คน ให้เลือกฝึกอาชีพที่ตนเองต้องการ จำนวน 4 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรช่างซ่อม เครื่องยนต์เล็ก หลักสูตรช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หลักสูตรการทำกระเป๋าจากวัสดุผ้า และหลักสูตรการแกะสลักกระจก ซึ่งได้ฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 13 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยจัดอบรมเฉพาะวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ในช่วงเวลา 08.00 – 17.00 น. ณ สถานที่ฝึกอบรม 8 แห่ง กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสวาย องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท เทศบาลตำบลยะวึก วิทยาลัยการอาชีพสังขะ องค์การบริหารส่วนตำบลกระเทียม องค์การบริหารส่วนตำบลตาตุม องค์การบริหารส่วนตำบลทับทัน และวิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ทีมวิทยากรผู้ให้ความรู้จากวิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยสารพัดช่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เป็นอย่างดียิ่ง
บัดนี้ โครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ปรากฏว่า เด็กและเยาวชนที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความสนใจ ตั้งใจ กระตือรือร้น และพยายามฝึกฝนตนเองจนสามารถผ่านเกณฑ์ที่วิทยากรกำหนด บรรยากาศในการฝึกอบรมในแต่ละพื้นที่ก็มีความเป็นกันเอง สนุกสนาน มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอยู่เนืองๆ วิทยากรก็สอนด้วยความรัก ความเมตตา มีการอธิบายและสาธิตให้เด็กได้ฝึกทดลองและปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดทักษะความรู้ นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
จบโครงการ…ยังมีเสียงกระซิบดังๆ จากน้องๆ เยาวชนที่เข้าอบรม รวมทั้งทีมวิทยากรผู้ให้ความรู้ว่า อยากเพิ่มหลักสูตรช่างซ่อมแอร์เพิ่มเติมด้วย และอยากให้มีกิจกรรมดีๆ อย่างนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจายออกไปทุกพื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาส หรือหลงผิด หรือออกกลางคันด้วยสาเหตุใดก็ตาม ได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง ได้มีความรู้ติดตัว มีที่ยืนในสังคม และสามารถหางานเลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระแก่สังคม เปรียบเสมือนมีผู้ใหญ่ใจดีที่เข้ามาช่วยกันรดน้ำลงสู่เมล็ดพันธุ์ที่ถูกลืม….ให้กลับมาเจริญงอกงามในสังคมอีกครั้ง
งานนี้ คงต้องฝากคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ทุกๆ ระดับ รวมทั้งปัญจภาคีเครือข่ายทุกพื้นที่ ช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผนและผลักดันให้มีกิจกรรมดีดีอย่างนี้ ให้เต็มพื้นที่จังหวัดสุรินทร์แล้ว
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)