อนาคตชีวิตเมืองในสังคมไทย "ใครก็มีสิทธิ์ไร้บ้าน"

ที่มา :  เว็บไซต์แนวหน้า


การไร้บ้านในเมือง thaihealth


แฟ้มภาพ


เรื่องเล่าจากชุดโครงการวิจัย“คนเมือง4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย”ซึ่งจัดการบรรยายโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคนไทย 4.0 แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมไทยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


การไร้บ้านในเมือง thaihealth


         นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บรรยายเรื่อง“การไร้บ้านในเมือง”โดยระบุว่า คนไร้บ้านเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่เห็นได้ชัดเจน แต่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาที่ซุกซ่อนจมลึกอยู่ใต้มหาสมุทร เช่น ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย รายได้ การทำงาน ความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความรุนแรงความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

          ข้อมูลคร่าวๆ ของคนไร้บ้านในประเทศไทย 1.กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านมากที่สุด แต่ร้อยละ 32 หรือเกือบ1 ใน 3 ของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ คือ คนที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลจากผลการสำรวจในปี 2560 รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคกลางตามลำดับ 2.อายุขัยเฉลี่ยของคนไร้บ้านอยู่ที่ 60 ปี ต่ำกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปราว 20 ปี คนไร้บ้านมักเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 3.ปัญหาครอบครัวและการว่างงานคือสาเหตุหลักของการเป็นคนไร้บ้านเช่น เคยมีงานทำแต่ต่อมาถูกเลิกจ้างมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งหรือมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว รองลงมาจึงเป็นการขาดที่พึ่งหรือการถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยเดิม4.วัยกลางคนเสี่ยงต่อการไร้บ้านมากที่สุดอายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านอยู่ที่49 ปี โดยเริ่มกลายเป็นคนไร้บ้านในช่วงอายุ 40-45 ปี หรือช่วงปลายของวัยแรงงานอนรรฆกล่าวต่อไปว่า หากมองไปยังอนาคต สามารถระบุปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการกลายเป็นคนไร้บ้านได้ดังนี้


การไร้บ้านในเมือง thaihealth


1.ประชากรและครัวเรือนแนวโน้มที่พบในปัจจุบันคือ“ผู้คนนิยมอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น”จาก 2 ล้านครัวเรือนในปี 2550 เป็น 4 ล้านครัวเรือนในปี 2561 รวมถึงยังพบจำนวนผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้นด้วย ซึ่งหมายถึงการไร้ที่พึ่งพิงในทางสังคมและครอบครัว


2.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่น มีการนำหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในงานต่างๆ มากขึ้น ทำให้มนุษย์เสี่ยงสูญเสียอาชีพของตนไป“แรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือคือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด” ดังข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)ระบุว่า ปัจจุบันงานบนโลกใช้แรงงานคนร้อยละ 71 แต่ในปี 2568 จะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 48


3.สภาพเศรษฐกิจซึ่งส่งผลชัดเจนต่อการที่ใครคนหนึ่งต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เช่น“ราคาที่อยู่อาศัยและที่ดินแพงมาก”แม้แต่ชนชั้นกลางก็ยังไม่ง่ายที่จะเข้าถึง“ค่าจ้างแรงงานเพิ่มน้อยกว่าราคาที่อยู่อาศัย”ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงคนที่กำลังไร้บ้านอยู่แล้วว่าจะยิ่งยากขึ้นไปอีกสักเพียงใด นอกจากนี้ยังมีปัจจัย“ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป”ดังกรณีของสหรัฐอเมริกาในอดีตเศรษฐกิจพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ แต่ในทศวรรษ 1970s(ปี 2513-2522) ได้เริ่มหันไปเน้นภาคการเงิน ช่วงดังกล่าวก็พบคนตกงานและไร้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


4.มุมมองต่อพื้นที่เมืองเช่น พื้นที่สาธารณะเดิมนั้นถูกใช้โดยคนระดับฐานรากเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ แต่ต่อมา“ภาครัฐมีนโยบายจัดระเบียบต่างๆ”ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงดังกล่าวได้อีก นอกจากนี้“ศาสนสถานยังถูกใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น”เช่น วัดหลายแห่งเริ่มไม่สนใจที่จะเอื้ออาทรต่อผู้ยากไร้ มีการขับไล่เพื่อต้องการบริหารจัดการพื้นที่แบบหวังผลกำไรสูงสุด


5.สิ่งแวดล้อมเช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมืองที่มีความยืดหยุ่น (Resilience) ต่ำ ผู้คนจะปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติได้ลำบาก จึงเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาคนไร้บ้าน

6.คุณค่า (Value) ทางสังคมหรือค่านิยมที่เปลี่ยนไป เช่น“ความโอบอ้อมอารีในสังคมลดลง”อาทิมีการพบว่า คนอยู่ในกรุงเทพฯ บริจาคน้อยกว่าคนอยู่ในต่างจังหวัด หรือคนนอกภาคเกษตรบริจาคน้อยกว่าคนในภาคเกษตร“กระแสรักษ์โลกกระทบอาชีพเก็บของเก่า”ซึ่งคนเก็บของเก่าก็คือคนระดับฐานรากในสังคม เช่น หากในอนาคตไม่มีขวดพลาสติก ทุกคนใช้แก้วน้ำส่วนตัวกันหมด รายได้จากการเก็บขวดขายก็จะหายไป


อนาคตในประเด็นคนไร้บ้าน อาจแบ่งได้ 4 เส้นทาง 


การไร้บ้านในเมือง thaihealth


1.ความโดดเดี่ยวที่สังคมเพิกเฉยผู้คนนิยมอยู่คนเดียว สวัสดิการไม่ครอบคลุม และผู้คนอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน จำนวนคนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากภาวะไร้ที่พึ่งพิงและไม่สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แรงงานไร้ฝีมือ กึ่งฝีมือและแรงงานนอกระบบมีความไม่มั่นคงทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรงขึ้นจากการที่ผู้คนเลื่อนชนชั้นขึ้นสูงได้ยาก


2.ความโดดเดี่ยวที่สังคมโอบอุ้มผู้คนนิยมอยู่คนเดียวและสวัสดิการทางสังคมไม่ครอบคลุม แต่คนในสังคมยังมีความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่เป็นค่านิยมหลัก แม้ภาวะไร้ที่พึ่งพิงและไม่สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะยังมีอยู่ แรงงานไร้ฝีมือ กึ่งฝีมือและแรงงานนอกระบบยังมีความไม่มั่นคงทางรายได้ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงสูง แต่คนไร้บ้านจะไม่เพิ่มขึ้นมากนักเพราะมีสังคมคอยประคับประคอง


3.สังคมไม่สนใจ..แต่ยังมีใครผู้คนยังนิยมอยู่กันเป็นครอบครัว รับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ปานกลาง แม้แรงงานไร้ฝีมือ กึ่งฝีมือและแรงงานนอกระบบยังมีความไม่มั่นคงทางรายได้ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงสูง และสังคมก็ไม่ได้มาช่วยอะไร แต่อย่างน้อยๆ ครอบครัวก็ยังช่วยเหลือกันได้ อย่างไรก็ตาม สังคมแบบนี้แม้คนไร้บ้านจะเพิ่มไม่มาก แต่หากใครคนหนึ่งกลายเป็นคนไร้บ้าน ก็อาจถึงขั้นไร้บ้านพร้อมกันทั้งครอบครัว


4.คนรอบข้างและสังคมโอบอุ้มเป็นโลกในอุดมคติอย่างแท้จริง ผู้คนยังนิยมอยู่กันเป็นครอบครัว สมาชิกสามารถดูแลกันและกันได้ รวมถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นยังคงเป็นค่านิยมสำคัญในสังคม แม้แรงงานไร้ฝีมือ กึ่งฝีมือและแรงงานนอกระบบยังมีความไม่มั่นคงทางรายได้แต่สวัสดิการทางสังคมจะครอบคลุมเพียงพอชุมชนสามารถสร้างระบบป้องกันกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนคนไร้บ้านจะลดลง


การไร้บ้านในเมือง thaihealth



              “ถ้ารัฐสามารถทำตัวเป็น Social Safety Net (ตาข่ายรองรับผู้คนจากเหตุไม่คาดฝัน) หรือเป็นหลักประกันทางสังคมแทนชุมชนได้ การเข้าสู่ภาวะเปราะบางหรือภาวะไร้บ้านก็จะมีแนวโน้มลดลง ความเสี่ยงของคนในเมืองก็จะลดลงถ้าเราดูปัจจุบันแล้วบอกว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตน่าจะส่งผลต่อการทำงานของคนไร้บ้านได้ดีมากขึ้น ในอังกฤษจะมีการใช้ Big Data (ฐานข้อมูลขนาดใหญ่) เพื่อ Detect (ค้นหา) กลุ่มที่เสี่ยงต่อการไร้บ้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที อย่างที่มีธนาคารแห่งหนึ่งแปลบทความมาว่าคืนคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านด้วยบล็อกเชน (Blockchain) และ Big Data เขาก็หวังว่าเทคโนโลยีที่มันเข้ามา จะส่งผลต่อการลดภาวะความเปราะบางและความเสี่ยงต่อการไร้บ้านในเมือง แต่ถ้าไม่ทำนโยบายนี้หรือมีเทคโนโลยีนี้ แนวโน้มที่มันไปคือทุกๆ คนก็มีความเสี่ยงที่จะไร้บ้านได้” อนรรฆ กล่าวในท้ายที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code