อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบ สสส.


อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ thaihealth


นักวิชาการ ชี้ มาตรการคุมเข้มโฆษณาแอลกอฮอล์ไทยมีข้อจำกัดและยังไม่เพียงพอในตลาดยุคดิจิทัล ห่วงการค้าเสรี ทำร้ายเด็ก-เยาวชนทั่วโลก  ประกาศเจตนารมณ์ปกป้องอนาคตของชาติจากสินค้าเสพติด ทำลายสุขภาพ ชู คัดค้านการแก้ไขกฎหมายควบคุมสุราให้อ่อนแอลง


เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กทม. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 11


ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิชาการ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)  กล่าวในงาน “การส่งเสริมการตลาดและการขายสุราในยุค พลิกผัน : ความน่าเป็นห่วงของเยาวชนไทย” ว่า การได้รับสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอิทธิพลต่อการเริ่มต้นดื่มและการดื่มหนักของเด็กและเยาวชน ปัจจุบันมีเทคนิคทางการตลาดของบริษัทดึงดูดเยาวชนมากมาย สร้างนักดื่มหน้าใหม่ในยุคการค้าเสรีและยุคดิจิทัล ที่การโฆษณาต่างๆ สื่อสารแพร่หลายในทุกทิศทาง จนกลายเป็นปัญหาข้ามพรหมแดน เพราะบริษัทเหล้ายักษ์ใหญ่ย้ายฐานการตลาดสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และโฆษณาต่าง ๆ สามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก หากประเทศใดไม่มีกฎหมายควบคุมจะต้องแบกรับผลกระทบที่ตามมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ประชาคมโลกได้เห็นปัญหาและกำลังร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนข้อตกลงกฎระเบียบระหว่างประเทศจัดการ


กฎหมายควบคุมสุราในประเทศไทย  มีเจตนารมณ์หลักในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และปกป้องสังคมจากผลกระทบของแอลกอฮอล์ กฎหมายควบคุมการโฆษณาแอลกอฮอล์ยังมีจุดอ่อนอยู่เพราะยังไม่ห้ามโฆษณาทั้งหมด ประกอบกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง ลงทุนโฆษณาและส่งเสริมการตลาดมหาศาล จึงทำให้การบังคับใช้ยังไม่เต็มที่   ล่าสุดประเทศไทยได้ออกอนุบัญญัติห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ที่เป็นค้าปลีกแล้ว  ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขึ้นที่จะส่งผลดีต่อเด็ก เยาวชนและสังคมไทยโดยภาพรวม” ดร.ภญ.อรทัย กล่าว


อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ thaihealth


ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวบนเวที “อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเหล้า-เบียร์”ว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาพบเยาวชนไทยมีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหา ทางออกปฏิรูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น และหนึ่งในปัญหาที่มีข้อค้นพบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกคือปัญหาด้านแอลกอฮอล์ที่กระทบต่อเยาวชนอย่างชัดเจน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเกิดอาชญากรรม ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ การติดแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน และอายุที่เริ่มต้นดื่มแอลกอฮอล์เร็วขึ้น อยากเรียกร้องให้เยาวชนไทยสนใจต่อการสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนไทยในอนาคต


เมื่อวานช่วงพิธีเปิดมีมุมมองของเยาวชนซึ่งเคยก้าวพลาดก่อคดีเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ได้กล่าวไว้อย่างน่าประทับใจว่า “วันที่ผมทำผิดเพราะเหล้า ผมรับผิดชอบด้วยการสิ้นอิสรภาพหลายปี  แต่ฆาตรกรร่วมกับผมในนามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งคนผลิต คนขายไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย   ผมหวังว่าประเทศไทยจะมีนโยบายที่เข้มแข็งขึ้นมนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เพื่อปกป้องเด็ก เยาวชน อนาคตของชาติ” ถือเป็นเสียงที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรรับฟังอย่างยิ่ง


อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ thaihealth


นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามของกลุ่มผู้ผลิตคราฟเบียร์  อุตสาหกรรมสุรารายใหญ่และกลุ่มสุราข้ามชาติ  เคลื่อนไหวผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2563 เครือข่ายด้านเด็กและเยาวชนกว่า 20 องค์กร ได้แสดงจุดยืนและมีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น คัดค้านความพยายามของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีสาระเพื่อการลดทอนประสิทธิภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิต นำเข้าและจัดจำหน่าย  เครือข่ายฯ สนับสนุนประเด็นลดการผูกขาดของตลาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย แต่ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุดที่ประมวลกฎหมายสรรพสามิต ไม่ใช่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประชาชนเข้าลงชื่อสนับสนุนกันมากกว่า 13 ล้านคน


อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ thaihealth


“ขอเรียกร้องรัฐสภารับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน หากมีประเด็นการขอแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ควรยึดหลักการแก้ไขให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ห้ามโฆษณาทุกกรณี กรณีคนเมาไปก่อเหตุให้ร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ร่วมรับผิดด้วย ไม่ใช่แก้ไขให้อ่อนแอลง เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมายหากปล่อยให้ค้าขายอย่างไร้ขอบเขต และเยาวชนยังเรียกร้องไปยังกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันแก้กฎหมายฉบับนี้ ให้หันมาค้าขายอย่างรับผิดชอบ ดีกว่าพยายามหาช่องทางสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง และผลักภาระให้คนดื่ม จนบรรดาผู้ขายผู้ผลิต ลอยตัวออกจากความรับผิดชอบทั้งที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่ผลกระทบทางสังคมคนไทยคือผู้รับผลกรรม  


“เห็นด้วยกับข้อเสนอและมุมมองของเครือข่ายเยาวชน  หากยอมให้แก้ไขปล่อยให้ธุรกิจน้ำเมาทำการตลาดโดยเสรีมากขึ้น  จะส่งผลกระทบกับสังคมโดยรวม อย่าลืมว่ากฎหมายฉบับนี้ มีประชาชนมากกว่า 13 ล้านคนได้ลงชือและร่วมกันผลักดัน การจะแก้ไขต้องดีกว่าเดิมและเป็นประโยชน์กับสังคม เช่น ห้ามโฆษณาโดยเด็ดขาด ทำให้คนขาย ร้านค้าต้องรับผิดชอบลูกค้าที่เมาแล้วเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น  ข้อสำคัญคือต้องรับฟังอย่างรอบด้าน ไม่เร่งรีบที่จะตัดสินใจ หรือรับฟังแต่ภาคธุรกิจที่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเท่านั้น” นายชูวิทย์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code