องค์การสหประชาชาติ ชูรางวัลคนไทยบริโภคน้ำตาลลด

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


องค์การสหประชาชาติ ชูรางวัลคนไทยบริโภคน้ำตาลลด thaihealth


แฟ้มภาพ


การบริโภคหวานจนเกินพอดีของคนไทยเป็น 1 ในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ทางกรมอนามัยจึงทำงานร่วมกับ สสส. และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน รณรงค์เพื่อลดการบริโภคหวาน จนได้รับรางวัล UNIATF Award จากองค์การสหประชาชาติ


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัล United Nations Inter-Agency Task Force (UNIATF Award) on the Prevention and Control of Non-communicable Diseases ในการประชุม side event  ของการประชุมองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งที่ 76  เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา


ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข รักษาการในตำแหน่งทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) ในฐานะผู้มีบทบาทลดการบริโภคหวานในประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานลดการบริโภคน้ำตาล กรมอนามัย ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้การทำงานมีความคล่องตัว และหลังจากนี้ในฐานะทันตแพทย์ยังสนใจเรื่องการลดน้ำตาล  แม้ประเทศไทยจะประกาศใช้อัตราภาษีตามปริมาณน้ำตาลในระบบขั้นบันไดตั้งแต่ปี 2560 กับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีรสหวานไปแล้ว จากนี้ไปจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลในปริมาณที่สูงมาก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ให้แต่พลังงานอย่างเดียวโดยเฉพาะการตลาดที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็ก


โดยจะพยายามทำความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรม และประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนให้สำนักงานการประถมศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกประกาศควบคุม ป้องกันไม่ให้กลุ่มเด็กนร. และเด็กเล็ก เข้าถึงอาหารดังกล่าวง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังต้องหาแนวทางการควบคุมโฆษณา ที่ไม่กระตุ้นการบริโภคมากจนเกินไป


ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวต่อว่า ทางเครือข่ายฯ กำลังประสานกับแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เมื่อสั่งเครื่องดื่มในแอพพลิเคชั่น ไม่ต้องพิมพ์คำว่าหวานน้อย โดยจะสนับสนุนให้แอพพลิเคชั่น ใช้ระบบเครื่องหมายเช็กลิสต์แทนการพิมพ์ ซึ่งกรมอนามัยกำลังดำเนินการ


"แต่สิ่งที่เราได้ทันทีเมื่อขึ้นภาษี แม้ไม่ได้ลดการบริโภคน้ำตาลลงโดยตรง แต่เป็นการเพิ่มความเข้าใจและการระวังตัวของผู้บริโภคมากขึ้น คำว่าหวานน้อยเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น เป็นการรณรงค์คู่ขนาน ทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม ขณะนี้กำลังรณรงค์ในเรื่องของร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแบบชงไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กร้านน้อย ให้เขาประชาสัมพันธ์กับลูกค้าทราบว่าร้านมีระดับความหวาน ซึ่งเครือข่ายฯ มีต้นแบบของร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งมีหลายร้านแล้ว"


ทั้งนี้การบริโภคน้ำตาลตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำคือไม่เกิน 10 % หรือไม่เกิน 10 ช้อนชา ของปริมาณที่บริโภคต่อวัน แต่สิ่งที่ควรจะเป็นคือแค่ 5% พูดง่าย ๆ ใน 1 วันไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา แต่คนไทยขณะนี้บริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 25 ช้อนชา


"การทำงานของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานยังอีกไกล ที่ต้องค่อย ๆ ลดน้ำตาลลง จึงต้องทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเรื่องของน้ำตาลกับผลิตภัณฑ์อาหารมีหลายอย่าง ต้องขอความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมค่อย ๆ ปรับ ไม่สามารถใช้มาตรการทางภาษีอย่างเดียวได้"


อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยประชากร เก็บข้อมูลหลังประกาศใช้อัตราภาษี พบว่าปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงร้อยละ 2.8% หรือลดไปเหลือที่ 278 มิลลิลิตร ที่คนบริโภคเฉลี่ยต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 283.6 มิลลิลิตร และเครื่องดื่มที่ลดน้ำตาลมากที่สุดคือน้ำอัดลม เป็นตลาดใหญ่ของเครื่องดื่มผสมน้ำตาล หลายยี่ห้อลดในระดับ 1-2% ให้อยู่ในระดับไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม  โดยเฉพาะน้ำอัดลมสีน้ำตาล เดิมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10%


บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มได้ปรับปรุงขนาดบรรจุให้เล็กลง ซึ่งผู้บริโภคแทบไม่รู้สึกว่าความหวานจากเครื่องดื่มลดลง รวมทั้งใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล และใช้การโฆษณา เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมได้

Shares:
QR Code :
QR Code