องค์กรแห่งความสุข บทเริ่มที่ผู้บริหารต้องเปิดใจ

“เมื่องานคือความสุข ชีวิตก็คือความเบิกบาน แต่เมื่องานคือภาระหน้าที่ ชีวิตก็คือทาสดี ๆ นี่เอง” ความรู้สึกนึกคิดดี ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับมนุษย์กินเงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ ได้ ที่สำคัญคือการสร้างสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่ทำงานให้มีความสุข มีความเป็นธรรมเท่าเทียม ที่เรียกตามหลักสากลว่า “แฮปปี้ เวิร์กเพลซ” ( Happy Work Place) หรือ “องค์กรแห่งความสุข” เมื่อเกิดวาระความสุขของพนักงานครอบคลุมไปทั่ว จะส่งผลต่อบริษัทที่มีผลกำไรมากขึ้นนั่นเอง


องค์กรแห่งความสุข บทเริ่มที่ผู้บริหารต้องเปิดใจ


สำนักสนับสนุนองค์กรสุขภาวะ ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ส่งเสริมให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างหลัก “แฮปปี้ เวิร์กเพลซ” ทำให้คนไทยเห็นความสำคัญของความสุขในการทำงาน โดยทำความเข้าใจให้กับพนักงานฝ่ายบุคคล เจ้าของบริษัท ผู้บริหาร รู้จักเครื่องมือจัดการความสุขที่เรียกว่า “HAPPY 8” ความสุขในการทำงาน 8 ประการ ได้แก่ 1. สุขภาพดี (Happy Body) 2. น้ำใจงาม (Happy Heart) 3. ทางสงบ (Happy Soul) 4. ผ่อนคลาย (Happy Relax) 5. หาความรู้ (Happy Brain) 6. ปลอดหนี้ (Happy Money) 7. ครอบครัวดี (Happy Family 8. สังคมดี (Happy Society)


เมื่อเร็ว ๆ นี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จัดงาน มหกรรม Happy Work Place Forum :5Apps to Happy workplace 3.0 ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สสส. กล่าวว่า สสส.ได้ผลักดันเรื่องแฮปปี้เวิร์กเพลซมาอย่างงต่อเนื่อง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลายองค์กรนำเครื่องมือนี้ไปบริหารองค์กร ซึ่งมี 3,000-4,000 บริษัท ที่บางองค์กรทำแฮปปี้เวิร์กเพลซกันมาบ้างแล้ว แต่ไม่มีการจัดระบบ สสส.ได้ออกแบบเครื่องมือให้นำไปใช้ ในปีนี้จะเชิญชวนสภาอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดองค์กรแห่งความสุขในภาคผลิตอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนปี 2558 ซึ่งในปีนั้นจะมีคนเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น


การสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษอย่างเดียวอาจใช้การไม่ได้ แม้ว่าเราจะพูดภาษาอังกฤษได้ดี ในเวลานี้คนไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านที่พูดภาษาไทยได้เพราะดูทีวีไทย  แต่อุปสรรคเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ที่ช่วยให้เราสื่อสารง่ายขึ้น เรื่องง่ายๆ เหล่านี้ถือเป็นแฮปปี้เวิร์กเพลซตัวหนึ่ง


สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมแฮปปี้เวิร์กเพลซในปีนี้จะเร่งให้เกิดแฮปปี้เวิร์กเพลซองค์กรภาครัฐมากขึ้น ก.พ.เข้ามาร่วม ที่ผ่านมาในหน่วยงานราชการได้ทำแฮปปี้เวิร์กเพลซมา เช่น กระทรวงการต่างประเทศ คนที่จะไปทำงานต่างประเทศต้องทำกับข้าวจากอาหารกระป๋องได้ เพราะทักษะเช่นนี้คนที่เรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก อาจไม่สามารถทำได้ เมื่อต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดน อาจไม่มีความสุขจากเรื่องอาหารการกิน


“แม้นิสัยแต่ละคนในองค์กรจะไม่เหมือนกันแต่ผลลัพธ์อยู่ที่งาน องค์กรที่ดีต้องดูแลทั้งคนและงาน ไม่เช่นนั้นองค์กรไปไม่รอด เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงมีการแข่งขันมากขึ้น แต่ปลายทางสุดท้ายทุกคนต้องการความสุข ผู้บริหารจะดูแลงานส่วนผู้นำจะดูแลคน แต่องค์กรที่ดีต้องดูแลทั้งคนและงาน”


เพื่อตอกย้ำว่าการทำแฮปปี้เวิร์กเพลซมีผลลัพธ์ออกมาให้เห็นต่อผลทางเศรษฐศาสตร์ สำนักสนับสนุนองค์กรสุขภาวะ ได้จัดทำเครื่องมือวัดผลตอบแทนทางธุรกิจที่เรียกว่า รีเทิร์น ออน อินเวสต์เมน (Return on Investment หรือ ROI) ที่สามารถคำนวณผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกำไร รายได้ ยอดขาย


สัมฤทธิ์ สว่างคำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเอเชีย พรีซิชั่น จำกัดหนึ่งในองค์กรที่ได้รับรางวัลรักษามาตรฐานความเป็นองค์กรสุขภาวะ 8+1 เล่าว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตนครเริ่มเปิดกิจการเมื่อปี 2538 ตั้งแต่มีพนัก 15 คน แต่ขณะนี้มีพนักงาน 600 คน เริ่มทำแฮปปี้เวิร์กเพลซจริง ๆ เมื่อปี 2540 ครั้งวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปีนั้นเป็นเทศกาลปีใหม่ ทางบริษัทไม่มีงบจัดงานปีใหม่ แต่มีของขวัญปีใหม่ฝากไปถึงลูก ๆ ของพนักงานทุกคน จนถึงขณะนี้เรามีวัฒนธรรมองค์กรเรื่องของการทำบุญวันเกิด วันเกิดของพนักงานทุกคน ทางบริษัทจัดเตรียมของทำบุญไว้ให้ มีพระมาบิณฑบาตที่บริษัท เพราะเข้าใจดีว่าในวันเกิดพนักงานไม่สามารถลางานไปทำบุญได้ หรือในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ในช่วงพนักงานเดินทางกลับไปบ้านเกิด บริษัทจะมีเงินสนับสนุนให้กับพนักงานที่เขียนโครงการเพื่อไปทำสาธารณประโยชน์ที่บ้านเกิด ไม่ว่าจะนำเงินไปปรับปรุงห้องสมุด ซ่อมแซมวัด เป็นต้น โครงการละ 3,000 บาท พร้อมจดหมายจากบริษัทที่เขียนถึงชุมชนขอบคุณท้องถิ่นว่าสร้างคนที่มาเป็นกำลังสำคัญของบริษัท นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติธรรมโดยไม่นับเป็นวันลา


“ผลที่พยายามสร้างองค์กรให้มีความสุขอย่างต่อเนื่อง เราพบว่าของเสียลดน้อยลงในไลน์การผลิต มีความเป็นมิตรไมตรีมาก รู้สึกได้ถึงเมื่อมีการประชุม ในช่วงที่แรงงานขาดแคลนในอุตสาหกรรมยานยนต์ขาดแคลน เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่ต้องทำให้องค์กรมีความสุข นโยบายปรับค่าแรง 300 บาท บริษัทให้มาก่อนหน้านี้แล้ว”


นอกจากบริษัทเอเชียฯ แล้ว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้เช่นกันในงานดังกล่าว พจนีย์ บุญประสิทธิ์ ผู้จัดการแผนกบริหารพนักงานสัมพันธ์ รพ.บำรุงราษฎร์ บอกเล่าถึงวิธีการสร้างแฮปปี้เวิร์กเพลซในโรงพยาบาลที่เด่น ๆ ว่า มีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อรองรับลูกค้าชาวต่างชาติ โดยร่วมกับสถาบันสอนภาษา Wall Street เปิดสอนภาษาอังกฤษระดับพื้นฐานในโรงพยาบาล ส่วนการทำ Happy Heart นั้นได้ทำโครงการเชิดชูเกียรติพนักงาน ได้แก่ โครงการทำดีทันใด โดยหัวหน้างานจะมอบแต้มแห่งความดีให้พิจารณาจากเสียงตอบรับจากลูกค้า แต้มความดีเหล่านี้นำไปแลกของรางวัลต่าง ๆ เช่น เสื้อโปโล นาฬิกา ร่ม ของขวัญจะเปลี่ยนไปตามความพอใจของพนักงาน โครงการข้อเสนอแนะและนวัตกรรม เพื่อจูงใจให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ โดยได้รับรางวัลเป็นเงินสด กิจกรรมวันผู้บริหารพบพนักงาน โดยจัดขึ้นทุกไตรมาส เปิดให้พนักงานทุกระดับได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารระดับสูง


ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า มีข้อมูลชี้ชัดว่าบริษัทที่จัดการให้องค์กรมีความสุข มีผลการเจริญเติบโตของกิจการดีขึ้น องค์กรมีความมั่นคง คนลาออกน้อยลง ทำให้ของเสียน้อยลง ลดการโกง แม้กระทั่งบริษัทขนาดเล็กสร้างองค์กรแห่งความสุขได้ ยกตัวอย่าง โรงงานทำขนมปังพรชัย ที่บางลำพู ทำแฮปปี้เวิร์กเพลซด้วยการเลี้ยงอาหารกลางวันพนักงาน หรือบางโรงงาน พนักงานเป็นหนี้บริษัทรวมหนี้มาเป็นของบริษัทแล้วผ่อน หรือตัวอย่างการแจกน้ำดื่มฟรีให้กับพนักงานนำกลับบ้านโดยบริษัทลงทุนซื้อเครื่องกรองน้ำ ถือว่าใช้เงินไม่มากแต่ได้ใจพนักงาน


“เรายังไม่ผลักดันเรื่องการทำแฮปปี้เวิร์กเพลซเพื่อลดหย่อนภาษีเหมือนกับระบบซีเอสอาร์ที่ทำ ๆ กันอยู่ มองว่าจะเป็นการกระทำที่หวังผลไม่ได้ทำจากใจของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง” ทพ.กฤษดา กล่าวและว่า ต่อไปอาจจะทำเครื่องหมายสัญลักษณ์สนับสนุนองค์กรที่ทำแฮปปี้เวิร์กเพลซเหมือนกับมาตรฐานไอเอสโอ รวมทั้งการถอดนวัตกรรมแฮปปี้เวิร์กเพลซแต่ละบริษัท จัดทำชุดความรู้ให้กับผู้สนใจนำมาใช้ได้


องค์กรแห่งความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้บริหารเล็งเห็นว่า คนเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของบริษัทก่อนเหนืออื่นใด บริษัทที่ต้องการเครื่องมือสร้างองค์กรแห่งความสุข ศึกษาและเรียนรู้วิธีการสร้างสุขให้พนักงานของบริษัทอื่น ๆ หารายละเอียดได้จาก เว็บไซต์ www.happy8workplace.com


 


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พรประไพ เสือเขียว


 

Shares:
QR Code :
QR Code