ห้ามขายยาแก้หวัดซูโดอีเฟดริน สั่งปรับสถานะ ‘ควบคุมพิเศษ’
มติ คกก.ยาปรับยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดริน “ควบคุมพิเศษ” ห้ามจำหน่ายร้านขายยา ใช้ได้เฉพาะ รพ.รัฐและเอกชนที่รับผู้ป่วยค้างคืนพร้อมเสนอยาสูตรทดแทน “เฟนิลเอฟริน”หวั่นมีผลความดันหัวใจ เร่ง อย.จัดทำฉลากเตือน
วานนี้ (21 ก.ค.) นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณีรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการยา ที่มี นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรมรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานว่า จากการประชุมนั้นได้มีวาระเรื่องการปรับสถานะของยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดริน(pseudoephedrin) เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาในการนำยาสูตรผสมชนิดนี้ไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด ซึ่งที่ประชุม
มีมติให้ปรับสถานะยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล ที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดริน3สูตร ได้แก่ 1. สูตร pseudoephedrin กับ triprolidine 2. สูตร pseudoephedrin กับ brompheniramine และ 3. สูตร pseudoephedrin กับ chlorphenira mine จากยาอันตรายที่ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น ให้ยกสถานะเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” โดยมีเงื่อนไขให้จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะจัดทำเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)คนใหม่ในการออกประกาศ และลงนามในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาหลายเดือน
“ระหว่างนี้ อย. จะขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิต/นำเข้ายาให้จำหน่ายยาดังกล่าวเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนทันที เพื่อควบคุมปัญหา ทั้งนี้ เมื่อปรับสถานะยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรินเป็นยาควบคุมพิเศษแล้ว ทั้งนี้ หากร้านขายยามีการฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตาม พ.ร.บ.ยา มาตรา 26มีโทษปรับ 2,000-10,000บาทไม่มีโทษจำคุก อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการปรับแก้ใน พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518เพื่อให้มีบทลงโทษในกรณีนำยาดังกล่าวไปแปรรูปเป็นยาเสพติดด้วย เพื่อให้ได้รับโทษหนักทางอาญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา” นพ.พงศ์พันธ์กล่าว
นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อย. จะเพิ่มการเข้าถึงยาทดแทนในการบรรเทาอาการคัดจมูก คือ ยาที่มีส่วนประกอบของเฟนิลเอฟริน โดยคณะกรรมการยา มีมติให้ปรับสถานะของยาที่มียาเฟนิลเอฟรินเป็นส่วนประกอบ เป็นยาที่ได้รับการยกเว้น “ไม่เป็นยาอันตราย”ซึ่งสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) และร้านขายยาบรรจุเสร็จ (ขย.2) ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นโดยที่ประสิทธิภาพของยาเฟนิลเอฟรินไม่แตกต่างจากยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรินสามารถบรรเทาอาการคัดจมูกได้ ที่สำคัญการนำยาเฟนิลเอฟรินไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด ยากกว่ามาก
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าปัจจุบันยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูลที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรินขึ้นทะเบียนกับ อย. มีประมาณ 200 กว่ารายการ ส่วนยาเฟนิลเอฟริน เป็นยาสูตรสำรอง ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนไว้จำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับประสิทธิภาพของยาเฟนิลเอฟริน การออกฤทธิ์แตกต่างจากยาสูตรซูโดอีเฟดรินเล็กน้อย ตรงที่ไม่ส่งผลต่อระบบประสาท แต่บางรายอาจพบว่ามีภาวะหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งจะจำกัดปริมาณการใช้ โดยไม่ควรใช้เกิน 10มิลลิกรัมขณะเดียวกันยาเฟนิลเอฟริน ยังมีปัญหาในเรื่องของความดัน ซึ่งเรื่องนี้มีฝ่ายที่เห็นว่า อย. ควรดำเนินการปรับปรุงฉลากเตือนผู้ที่มีปัญหาความดัน และอาจส่งผลต่อหัวใจด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการ