ห่วงโควิด-19 หวนระบาด ควบคู่ฝุ่น PM2.5
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
แฟ้มภาพ
เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ อาจเกิดขึ้นง่าย โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวังตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและนายกสมาคมอุรเวชช์ฯ เปิดเผยว่า ในระยะนี้ เริ่มตั้งแต่ในเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ทุกคนต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศ เมื่อไหร่ก็ตามที่ดัชนีคุณภาพอากาศเป็นสีส้ม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้มีโรคเรื้อรัง เด็ก ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ถ้าเป็นสีแดง ขอให้ทุกคนหลีกเลี่ยง กรณีคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95 หรืออย่างน้อยเป็นหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น โดยไม่ว่าจะใช้หน้ากากชนิดใดต้องสวมใส่ให้กระชับใบหน้าและจำกัดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด
คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปจะมีอาการระคายเคืองจมูกน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด จะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอด และทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อว่า PM 2.5 เป็นมลพิษทางอากาศ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาของเนื้อเยื่อปอด ทำให้ในระยะสั้นเกิดโรคปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้นรวมถึงโควิด-19 โรคหืดและโรคถุงลมโป่งพองกำเริบ ส่วนในระยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดถดถอยและมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น และเนื่องจากสามารถหลุดรอดผ่านกระแสเลือด ไปทำลายอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกายด้วย จึงทำให้เกิดโรคความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรังตามมา รวมถึงโรคสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจุบันประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องนี้ในทุกภาคส่วนกันมากขึ้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อหามาตรการควบคุมแหล่งกำเนิด ลดการสูญเสียโดยมีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ พร้อมแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว รณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลางแจ้งใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นอย่างถูกต้อง และจัดหาให้เพียงพอ เสริมอุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพในที่พักอาศัย รวมถึงจัดหาสถานที่หลบภัยสาธารณะสำหรับประชาชนที่ขาดความพร้อม
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก เรียกมลพิษในอากาศว่า ฆาตกรที่มองไม่เห็น เพราะสัมพันธ์กับการเพิ่มการตายจากโรคปอดร้อยละ 43 ตายจากโรคมะเร็งปอดร้อยละ 29 ตายจากโรคหัวใจร้อยละ 25 และตายจากโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 24 ซึ่งการป้องกันโรคและลดผลกระทบที่เกิดจากพีเอ็ม 2.5 ด้วยตนเอง
นอกจากการใส่หน้ากากอนามัย, ป้องกันมลพิษในอากาศภายนอกบ้านเข้าในบ้าน, ดูดฝุ่น ทำความสะอาดบ้านและระบายอากาศในห้องให้ถ่ายเทได้ดี, ใช้เครื่องกรองอากาศ, ไม่สร้างฝุ่นในบ้าน เช่น จุดฟืนไฟในบ้านแล้ว การดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ทั้งกายและใจ อาหาร อิริยาบถ และออกกำลังกาย ก็สามารถช่วยลดภัยที่เกิดจากมลพิษ PM 2.5 ได้
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนสูงขึ้น โอกาสการระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศไทยอาจเกิดจากที่มีผู้ป่วยที่หลุดรอดจากระบบการคัดกรองที่อาจจะเข้ามา ตามช่องทางต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นการป้องกันการเกิดการระบาดระลอกที่ 2 จึงควรมีมาตรการในการค้นผู้ป่วยเหล่านี้ ที่มีโอกาสเข้ามาในที่ชุมชน โดยเฉพาะจากประเทศ เพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโควิด-19
เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เข้ามาอาจจะไม่มีอาการ และการติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้ความสามารถในการติดเชื้อเกิดง่ายขึ้น สำหรับในประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่ในช่วงฤดูหนาว การที่มีความชื้นลดลง อาจจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม ประกอบกับมีการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่และเป็นวันหยุดยาว จะทำให้คนมาอยู่ในที่แออัดมากขึ้น จึงควรมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนทั่วโลกว่า วัคซีนที่กำลังเข้าสู่การทดสอบในอาสาสมัครทั่วโลกมีประมาณ 66 วัคซีน ทั้งนี้มี 12 วัคซีน (4 เทคโนโลยี) ที่กำลังทดสอบในระยะที่ 3 โดยผลการทดสอบวัคซีนได้ผลดีมาก มาจาก 3 บริษัท คือ ไฟเซอร์, โมเดินน่า และ แอสตร้าเซนิก้า ซึ่งทั้ง 3 วัคซีน แจ้งผลทดสอบในระยะที่สาม และจากการวิเคราะห์เบื้องต้นสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรืออาการป่วยรุนแรงของโควิด-19 ได้สูงเกินคาดหมาย
ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของ ไฟเซอร์ และโมเดินน่า ได้ผลถึงร้อยละ 95 และวัคซีนชนิดใช้เชื้อไวรัสอื่นเป็นตัวพาของแอสตร้าเซนิก้า ได้ผลเฉลี่ยร้อยละ 70 (ในกลุ่มย่อยพบว่าได้ผลถึงร้อยละ 90) ข้อดีของวัคซีนนี้ คือตั้งราคาถูกมากไม่เกินเข็มละ 5 ดอลลาร์สหรัฐและจัดเก็บง่ายที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส
ดังนั้นคาดว่า จะมีอย่างน้อย 1-2 วัคซีน จะได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA, อังกฤษและยุโรป เพื่อใช้ในกรณีภาวะฉุกเฉินภายในสิ้นปีหรือต้นปีหน้าอย่างแน่นอน ส่วนความท้าทายของโลก เมื่อไหร่จะมีวัคซีนใช้ทั่วถึงสำหรับประชาชนทั่วไป ที่แน่นอนคือจำนวนวัคซีนที่จะผลิตได้ในสิ้นปีนี้น่าจะน้อยกว่า 100 ล้านโดส ฉะนั้นคงจะมีให้เฉพาะประเทศที่ได้จองล่วงหน้าไว้แล้วเท่านั้น และคาดว่าวัคซีนคงจะมีการผลิตมากขึ้นเป็นหลายพันล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 อย่างไรก็ตามคงไม่สามารถผลิตได้เพียงพอสำหรับร้อยละ 50 ของประชากรโลก คือมากกว่า 3,900 ล้านคน ซึ่งต้องฉีดสองเข็ม ก็คือประมาณ 7,800 ล้านโดส
สำหรับประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายคู่ขนาน 3 ด้าน : 1.เข้าร่วมกับเครือข่ายนานาชาติ COVAX ในการต่อรองและจัดซื้อวัคซีน 2.สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก แอสตร้าเซนิก้า ผลิตวัคซีนภายในประเทศที่บริษัทสยามไบโอซายน์ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้รับวัคซีน 26 ล้านโดส ภายในปลายปี 2564 และ 3.ส่งเสริมการคิดค้นพัฒนาวัคซีนและผลิตได้ในประเทศ สรุปประเทศไทยจะเริ่มมีวัคซีนใช้สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก น่าจะประมาณกลางปีหน้า และอาจจะมีการนำเข้าวัคซีน อื่นๆ จากภาคเอกชนเพื่อให้มีการเข้าถึงประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง
ส่วนความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนของไทย เป้าหมายสำคัญคือ ประเทศสามารถพึ่งตนเองให้มากที่สุดในการระบาดครั้งนี้ รวมทั้งการระบาดในอนาคต ขณะนี้มีอย่างน้อย 5 หน่วยงาน เป็นภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาฯ, มหิดล, สวทช., องค์การเภสัชกรรม และมีภาคเอกชน 1 แห่งคือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย จำกัด กำลังมุ่งมั่นเร่งพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจัง
ข้อมูลล่าสุด มีสองวัคซีน คือ mRNA vaccine ของศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (เริ่มฉีดในอาสาสมัครประมาณเดือนเมษายน 2564) และ DNA vaccine ของบริษัทไบโอเนทเอเชีย ที่พร้อมจะเข้าสู่การทดสอบในกับอาสาสมัครระยะที่หนึ่ง
ส่วนอีกหนึ่งวัคซีนที่กำลังเตรียมผลิตและทดสอบความพร้อมกับอาสาสมัครคือ plant-based protein vaccine จากบริษัทใบยาและคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งนี้วัคซีนชนิด mRNA กำลังเตรียมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาให้โรงงานผลิตวัคซีนไทย คือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายเริ่มผลิตในประเทศไทย ให้ได้ภายในปลายปี 2564 ขึ้นอยู่กับการเร่งดำเนินการระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนให้เพียงพอและทันท่วงที