ห่วงเด็กอ้วน อมโรค!

“เด็กอ้วนในวันนี้ เสี่ยงป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดในวันหน้า” เหตุใดเด็กอ้วนที่ดูตุ้ยนุ้ยน่ารัก จึงมีความเสี่ยงเช่นนั้นในตอนโต?

ผลวิจัยจากโครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบเด็กไทยดูดี มีพลานามัย โดย รศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ จากภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสิ่งสะท้อนให้ผู้ใหญ่ตระหนักถึงผลเสียของความอ้วนในเด็ก

โครงการวิจัยนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 ทีมงานซึ่งประกอบด้วยนักสาธารณสุขของภาควิชา พร้อมแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งยังมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนักวิชาการอิสระ ช่วยกันทำการสำรวจนักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลสามเสน โรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ และโรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง

ผลวิจัยในระยะแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2547 -2549 พบว่า เด็กชั้นประถม 1 – 6 มีอัตราเกิดโรคอ้วนร้อยละ 20 มีไขมันในเลือดสูงร้อยละ 78 ส่วนระยะล่าสุดที่เพิ่งสำรวจไปเมื่อ พ.ศ. 2555 พบว่า อัตราเกิดโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21 ขณะที่ไขมันในเลือดสูงมีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ร้อยละ 66

นอกจากนี้ ข้อมูลวิจัยยังพบ 1 ใน 3 ของเด็กอ้วนมีปัญหาความดันโลหิตสูง โดยร้อยละ 10 สังเกตเห็นปื้นดำที่คอ ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงโรคเบาหวานแล้ว ยังหมายถึงเด็กมีแนวโน้มป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต และถือว่า ความอ้วนในวัยเด็กคือความเสี่ยงสะสม ยิ่งถ้าปล่อยให้เด็กอ้วนต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น

ต้นตอที่ทำให้เด็กอ้วนนั้น รศ.พญ.ชุติมา ชี้ว่า มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารพลังงานสูง รสหวาน มัน เค็มเช่น ไก่ทอด เค้ก น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ และอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากสังคมตะวันตก แต่เมื่อกินอาหารเหล่านี้แล้ว เด็กๆ กลับกินผักผลไม้ลดน้อยลง แถมยังขาดวินัยการกินอาหารเป็นเวลา เลือกดูทีวีเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรืออยู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยีมากกว่าออกมาวิ่งเล่นเพื่อออกกำลังกาย

แม้ผลวิจัยข้างต้น ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างราว 1,181 คน แต่เมื่อรับรู้ข้อมูลนี้ก็มิอาจชะล่าใจได้ เนื่องจากในภาพกว้างอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังประสบปัญหาเด็กป่วยโรคอ้วน ซึ่งต้องใช้เงินกว่า 14.3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อดูแลเด็กโรคอ้วน นอกจากนี้ ยังมีรายงานระบุว่า โรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขแห่งศตวรรษที่ 21 โดยทั่วโลก เด็กที่เป็นโรคอ้วนต่างได้รับผลเสียต่อสุขภาพกายและจิต

ปัญหาสุขภาพกายของเด็กอ้วนมีตั้งแต่เหนื่อยง่าย การเรียนรู้ช้ากว่าเด็กที่น้ำหนักตัวปกติ มีโอกาสป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีภาวะไขมันสะสมในตับ นิ่วในถุงน้ำดี โรคทางเดินหายใจ หอบ ภูมิแพ้ นอนกรน หยุดหายใจเป็นพักๆ ปวดข้อเข่า เสี่ยงโรคมะเร็งมากกว่าเด็กไม่อ้วน มีโอกาสอ้วนในวัยผู้ใหญ่

โดยเฉพาะเด็กอ้วนที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเป็นเบาหวาน จะยิ่งเสี่ยงป่วยโรคหัวและหลอดเลือดตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ปัญหานี้ต้องเน้นเตือน เพราะโรคหัวใจและหลอดเลือด ติดอันดับ 1 ใน 3 สาเหตุเสียชีวิตสูงสุดของคนในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย

สำหรับปัญหาสุขภาพจิตที่เด็กอ้วนอาจต้องเจอนั้นคือ ภาวะซึมเศร้าสูงกว่าเด็กปกติ ซึ่งกระทบต่อการเรียนและคุณภาพชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม หรือ สสส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนโครงการวิจัยนี้ แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาความอ้วนในเด็กว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตของเด็กอาจต้องใช้เวลา แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ปกครอง ครู ต้องร่วมกันแก้ไข โดยเฉพาะให้ความรู้แก่เด็ก และจัดหาอาหารที่เหมาะสม เน้นอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ ลดหวานมันเค็ม เพิ่มผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งในแต่ละมื้อ เพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดเวลานั่งนอนหน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ให้น้อยลง

เด็กอ้วนอาจจะดูน่ารัก แต่เมื่อไล่เรียงดูปัญหาสุขภาพที่ตามมาแล้ว ยังอยากปล่อยให้เด็กอ้วนต่อไปอีกหรือไม่ ผู้ปกครองต้องพิจารณา!

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ