ห่วงเด็กวัยเรียนไม่กินอาหารเช้า ทำอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
ห่วงเด็กวัยเรียนไม่ได้กินอาหารเช้าเสี่ยงร่างกายอ่อนเพลียไม่มีสมาธิ แนะพ่อแม่ควรเตรียมเมนูที่ทำ หรือหาซื้อได้ง่ายเพิ่มผักผลไม้ ช่วยให้เด็กไม่ขาดอาหารเช้า พร้อมนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 9-11 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยสมองปลอดโปร่ง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ทำให้สถานศึกษาในหลายจังหวัดได้สั่งหยุดเรียนโดยให้เด็กเรียนผ่านระบบออนไลน์แทนส่งผลให้หลายๆ ครอบครัวที่พ่อแม่ยังคงต้องทำงานนอกบ้าน อาจจะไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้า สำหรับลูกซึ่งเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเป็นประจำ จะส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพ เพราะการเผาผลาญสารอาหารของร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะช่วงระหว่างอาหารเย็นถึงช่วงเช้า ร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหารตลอดเวลาแม้ในขณะหลับ และหากร่างกายไม่ได้รับสารอาหารในมื้อเช้า จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมได้ เนื่องจากสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กวัยเรียนของกรมอนามัยปี 2560 พบว่ามีการกินอาหารเช้าทุกวันในกลุ่มเด็กอายุ 10 ปี ร้อยละ 66.96 ส่วนเด็กอายุ 12 ปี พบร้อยละ 54.7 พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องให้เด็กกินอาหารเช้าเป็นประจำทุกวัน ซึ่งเมนูอาหารเช้าที่ดีต้องถูกหลักโภชนาการและมีคุณค่าทางสารอาหาร ซึ่งควรประกอบด้วยอาหาร 3 กลุ่มเป็นอย่างน้อย ได้แก่ กลุ่มข้าว-แป้ง กลุ่มผักและกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็นเมนูที่เตรียมง่ายๆ หรือเป็นอาหารจานเดียว เช่น ข้าวต้มเครื่อง โจ๊ก ข้าวผัดอาหาร สำเร็จรูปประเภทซีเรียล โฮลวีตผสมนมรสจืด แซนด์วิช ไข่แซนด์วิชทูน่า เป็นต้น
และควรเพิ่มผัก อาทิ แตงกวา หรือกะหล่ำปลี การเพิ่มผักในเมนูอาหารเป็นการฝึกให้เด็กกินผัก ด้วยวิธีใช้ผักที่ไม่มีกลิ่นฉุนและรสขม เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ฟักทอง ผักบุ้ง แครอท หรือหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็ก เพื่อเพิ่มสีสันในเมนูอาหาร ที่สำคัญควรเตรียมนมสดรสจืด 1 กล่อง ผลไม้ขนาดกลางประมาณ 1 ผล เช่น ส้ม แอปเปิล ชมพู่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วน
“ทั้งนี้เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการพลังงานสารอาหาร ที่ครบถ้วนและหลากหลายให้เพียงพอต่อร่างกาย พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลมขนมหวานขนมขบเขี้ยว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนของเด็กไทย พร้อมทั้งควรให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 9-11 ชั่วโมง ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ทำให้สมองสามารถเรียนรู้จดจำและมีสมาธิ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว