ห่วงเด็กยุค 4.0 ดูทีวี-เล่นแท็บเล็ต ตั้งแต่ 1 ขวบ
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
ห่วงเด็ก ยุค Thailand 4.0 ใช้สื่อ ดูทีวี เล่นแท็บเล็ตตั้งแต่ 1 ขวบ สสส.รุกเสริมศักยภาพครู ศพด.ต่อเนื่องกว่า 600 ศูนย์ เร่งขยายผลต้นแบบมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 ดี ไปยัง อปท.ทั่วประเทศ หวังสร้างภูมิคุ้มกัน-รู้เท่าทันสื่อ เผยหลังร่วมโครงการฯ เด็กพัฒนาการดีขึ้นทุกด้าน เข้ากับผู้อื่นได้ดี ฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ไม่กินขนมขบเคี้ยว ควบคุมอารมณ์ได้ มีเมตตา
9 พ.ย.60 ที่โรงแรมโรงแรมรอยัลริเวอร์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด "อบรมเชิงปฏิบัติการปฐมนิเทศครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" ระหว่างวันที่ 8 – 11 พ.ย.60 เพื่อเสริมศักยภาพ เติมความรู้ ให้ครูผู้ดูแลเด็กมีความรู้ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดีครบทุกด้าน และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม พร้อมกับจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกด้วย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สน 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โครงการนี้ เกิดขึ้นจากการทำงานเชิงรุกของกลุ่มแผนงานสื่อสร้างสรรค์สุขภาวะ ที่ได้บูรณาการการทำงานของแผนงานทั้ง 3 แผนงาน คือ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย) , แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดย สสส.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะของเด็กปฐมวัย ด้วยแนวคิดของการสร้าง "พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก" โดยเน้นการสร้างสุขภาวะที่ดี 4 ด้าน (กาย จิต ปัญญา สังคม)ด้วยยุทธศาสตร์ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและดึงเด็กออกจากสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ การติดตามเสริมศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ใน ศพด.โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครู ศพด.ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง ปี 2559 มีจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 528 ศูนย์ มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จำนวน 32,852 คน สำหรับในปีนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วม 100 แห่ง และมีครูเข้าร่วมอบรม 120 คน โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์พี่เลี้ยง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะในการจัดกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ขยายผลสู่ศูนย์ใกล้เคียงในพื้นที่
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินพัฒนาการเด็กที่เข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 2560 ใน 7 ด้าน ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กจากการประเมินพัฒนาการเด็กหลังทำกิจกรรม พบว่า ด้านที่เด็กมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากที่สุดหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรม 4 ลำดับแรก คือ 1.ด้านความสัมพันธ์ ความรู้จักผูกพัน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีทักษะในการสื่อสาร อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ 2.ด้านอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ใช้ความรุนแรงมีความเมตตา 3.ด้านความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ด้านกิจกรรมทางกาย พบว่าเด็กส่วนใหญ่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว 4.ความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ด้านอาหารและโภชนาการ โดยเด็กๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่กินขนมขบเคี้ยว ในส่วนของความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ เห็นได้ชัดว่าคุณครูเห็นคุณค่าและภูมิใจในงานที่ทำ พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์ให้มีความพร้อมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและสิ่งสำคัญคือเด็กๆ มีความสุขที่ได้มาศูนย์และได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่คุณครูจัดขึ้นในทุกวัน
ด้าน นางสาวสายใจ คงทน กลุ่ม We are Happy ผู้รายงานและประเมินภาพรวมการติดตามและพัฒนาศักยภาพโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อของเด็กก่อนวัยเรียนและครอบครัวของกลุ่ม we are happy ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ -30 มิถุนายน 2560 จากผู้ปกครองที่มีลูกอายุ ระหว่าง 2 – 6 ปีเรียนอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ใน 4 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพฯ จำนวน 2,234 ครอบครัว พบว่า เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 12.6 ใช้เวลากับการดูรายการต่างๆ จากโทรทัศน์มากที่สุด โดยใช้เวลามากสุด 300 นาที/วัน เวลาเฉลี่ย อยู่ที่ 50.3 นาที/วัน รองลงมาร้อยละ 11.1 ดูวิดีโอ/คลิป บนโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตใช้เวลามากสุด 300 นาที/วัน เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.40 นาที/วัน และ ร้อยละ 10.3 เปิด – ปิด อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ได้ด้วยตนเอง เด็กก่อนวัยเรียน เริ่มต้นใช้สื่อได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีโดยพบว่า กิจกรรมที่เด็กสามารถทำได้ คือสามารถ เปิด – ปิด อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ได้ด้วยตนเอง ร้อยละ 18.4 รองลงมาคือ ดูรายการต่างๆ จากโทรทัศน์ ร้อยละ 15.6 และเด็กร้อยละ 13.8 ดูวิดีโอ /คลิปบนโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงสื่อในลักษณะนี้จะเห็นว่าเด็กเป็นเพียงผู้รับสื่อเท่านั้น
"จากข้อมูลจะพบว่า เด็กก่อนวัยเรียนและเด็กปฐมวัย มีความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อออนไลน์ รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เพื่อเล่นเกม ความบันเทิงมากกว่าเพื่อการศึกษา อีกทั้งเนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตไม่ได้ถูกทำไว้เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่อายุน้อยเหล่านี้ ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเด็กเล็กเข้าสู่การใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้มักจะติดใจกับการใช้งาน รูปภาพ เสียง ดังนั้นเมื่อเด็กใช้เวลากับสื่อมากขึ้นส่งผลด้านลบต่อพฤติกรรมสุขภาพ มีกิจกรรมทางกายน้อยลง บริโภคอาหารตามสื่อโฆษณาที่ได้รับ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของพัฒนาการทางด้านร่างกาย" นางสาวสายใจ กล่าว
ด้าน นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย) กล่าวว่า การพัฒนาของเด็กเล็กในช่วงเริ่มต้นวัย 2 – 6 ปี ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งด้านอารมณ์ และด้านทักษะการรับรู้ทางด้านสมองระบบประสาท การอยู่ร่วมกับคนอื่นที่มีความหลากหลาย มีความสามารถในการปรับตัว ยิ่งในยุค Thailand 4.0 ที่เด็กเติบโตท่ามกลางสื่อเทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว ซับซ้อน และหลากหลายมากขึ้น ทิศทางในการดูแลปลูกฝังให้เด็กมีสุขภาวะที่ดีนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญและควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ โดยสสส.ได้สนับสนุนให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 ดี ต้นแบบ โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี ที่ใช้สื่ออย่างสื่อบุคคล สื่อธรรมชาติ สื่อวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่เกิดจากการให้เด็กสัมผัสประสบการณ์จริง โดยผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำมาต่อยอดขขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศให้นำโมเดลนี้ไปใช้ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาระบบและนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กสูงสุดด้วย
ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ FB : มหัศจรรย์ศ พด.หรือ Fanpage Facebookชื่อมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์https://www.facebook.com/mediaforpreschool สำหรับโพสรูปภาพข้อมูลแบ่งปันเรื่องการทำงาน ทำให้กระบวนการทำงานเกิดการขยายผลและต่อยอดความคิดได้อย่างกว้างขวาง